- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 01 September 2024 13:23
- Hits: 8096
พาณิชย์ ระดมสมอง 40 หน่วยงาน เคาะ 4 แนวทาง ขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไทย
สนค.จัดประชุมร่วมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน กว่า 40 หน่วยงาน ระดมสมองทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าของไทย หลังเผชิญความท้าทาย เติบโตชะลอตัว เคาะแผนขับเคลื่อน 4 แผนงาน เตรียมส่งเสริมสินค้าศักยภาพสอดรับกระแสโลก ขยายความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้า ลงทุน ผ่านการทำ FTA หนุนใช้นวัตกรรมและยกระดับมาตรฐานสินค้า และสร้างความเข้มแข้งให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน กว่า 40 หน่วยงาน ในประเด็นการพัฒนาและยกระดับการส่งออกของไทย ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ.2568–2570 เพื่อทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไทย เพราะปัจจุบันการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
แต่การส่งออกกำลังเผชิญความท้าทายและปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว จึงจำเป็นต้องระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดแนวทางผลักดันการส่งออกให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศต่อไป
สำหรับ แผนการพัฒนาและยกระดับการส่งออกของไทย ที่ประชุมได้เห็นชอบ 4 ประเด็นการพัฒนาสำคัญ ในการพลิกโฉมการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1.การยกระดับการส่งเสริมสินค้าส่งออกที่มุ่งเป้าไปยังสินค้าที่มีศักยภาพสอดรับกับกระแสโลกและความต้องการของตลาดในอนาคต โดยมุ่งเน้นส่งเสริมสินค้าตามแนวคิด BCG สินค้าสำหรับยุค Next Normal อาทิ
สินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สินค้าอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องมือแพทย์ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายสัดส่วนตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง และการปรับการส่งเสริมการค้าในตลาดหลักให้เป็นการส่งเสริมแบบรายเมือง/มณฑล/รัฐ
2.การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ผ่านการจัดทำ FTA เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และแสวงหาพันธมิตรและคู่ค้าในตลาดใหม่ ๆ ผ่านการใช้กรอบความร่วมมือกับต่างประเทศให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA
3.สนับสนุนการใช้นวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น
4.คุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งและเป็นธรรมทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการทางการค้าให้เอื้อและอำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจยุคใหม่ และสามารถรักษาผลประโยชน์ทางการค้า พร้อมทั้งสอดรับกับบริบททางการค้าระหว่างประเทศ