- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 01 September 2024 13:45
- Hits: 8438
ภูมิธรรม ถก 28 หน่วยงาน เคาะ 5 มาตรการ แก้ปัญหานำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
ภูมิธรรม ประชุมร่วม 28 หน่วยงาน เดินหน้าแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมเคาะ 5 มาตรการ ดูแลผู้บริโภคและ SME ไทย ลุยใช้กฎระเบียบ กฎหมาย ที่มีอยู่สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบตู้สินค้านำเข้า โรงงาน การชำระอากร หากเอาไม่อยู่ ให้ปรับแก้กฎหมายมาจัดการ แต่ต้องยึดหลักสากล
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า การประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงจาก 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีเป้าหมายเพื่อพิจารณามาตรการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำ
เพื่อดูแลผู้บริโภค ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน และดูแลผู้ประกอบการ SME ไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ผ่านการดำเนินการใน 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งรัดและมาตรการยั่งยืนรวม 63 มาตรการ
สำหรับ รายละเอียด 5 มาตรการ ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ทั้งในส่วนของการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบของ Cyber Team
ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานจำหน่ายออนไลน์ในส่วนการประกอบธุรกิจ มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด
2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย
นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดไปด้วยอีกทางหนึ่ง
3.มาตรการภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศเตรียมการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
4.มาตรการช่วยเหลือ SME ไทย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เป็นต้น
เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า และการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายการส่งออกผ่าน 9 แพลตฟอร์ม E-Commerce พันธมิตรในประเทศเป้าหมาย
5.สร้าง ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางตลาด E-Commerce ให้เป็นอีกช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยผ่าน E-Commerce ไปตลาดต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค
“ช่วงแรก ให้ทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ โดยใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ ทั้งความถูกต้องของการจดทะเบียนการค้า ใบอนุญาต คุณภาพสินค้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้ง อย. สมอ. การชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการต่างชาติ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้กรมศุลกากรเปิดตู้สินค้าถี่ขึ้น
ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะใช้กับสินค้านำเข้าทุกประเทศ ไม่ได้บังคับเฉพาะประเทศใด ประเทศหนึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่พืชผักผลไม้ จนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้สินค้าที่จะจำหน่ายในไทยต้องมีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยให้ทุกหน่วยงานแจ้งผลการทำงานกลับมาทุกสัปดาห์ และนัดประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ เพื่อติดตามผล”นายภูมิธรรมกล่าว
ทั้งนี้ หากกฎหมายมีอยู่ ไม่เพียงพอ หรือไม่ทันสมัย ก็ให้พิจารณาปรับปรุง หรือปรับระเบียบใหม่อย่างเหมาะสม แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาการค้าที่เป็นสากล เช่น การเพิ่มสินค้าควบคุมตามมาตรฐานของ อย. และ มอก. การปรับปรุงระเบียบฟรีโซน การออกแนวปฏิบัติให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศต้องเข้ามาจดทะเบียนในไทย หรือการดูแนวทางจากต่างประเทศ เช่น ห้ามสินค้าเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น