- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 24 November 2024 11:51
- Hits: 1935
พาณิชย์ เผยธุรกิจอัปไซเคิลมาแรง สร้างโอกาสทางการค้าใหม่ เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน
สนค.เผยธุรกิจอัปไซเคิล โอกาสทางธุรกิจใหม่ หลังขยะโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องหาทางกำจัดด้วยการพัฒนาวัสดุหรือวัตถุดิบเหลือทิ้งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยลดการเกิดขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุดพบหลายแบรนด์หันมาพัฒนาสินค้าจนเป็นที่ยอมรับ แนะภาครัฐช่วยหนุน ทั้งเรื่องเงินทุน การวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมการบริโภค
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก ทำให้การบริโภคของทุกภาคส่วนขยายตัว ก่อให้เกิดปริมาณขยะจำนวนมาก ทั้งขยะมูลฝอยชุมชนและขยะพลาสติก
โดยตามรายงาน Global Waste Management Outlook 2024 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านตัน ภายในปี 2593 และทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะทั่วโลกเพิ่มขึ้น จาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 6.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2593 สำหรับประเทศไทย ในปี 2566 มีขยะมูลฝอยชุมชน 26.95 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 73,840 ตัน/วัน ซึ่งขยะปริมาณมหาศาลเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนเป็นภาระทางคลังของประเทศ
โดยความท้าทายในการจัดการขยะจำนวนมาก และต้นทุนในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณขยะ ก่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ ด้วยการอัปไซเคิล (upcycle) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอัปไซเคิล มาจากคำว่า อัปเกรด (upgrade) ที่หมายถึง การพัฒนาให้ดีขึ้น รวมกับคำว่า รีไซเคิล (recycle) หมายถึง การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นวัสดุ ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเท่าเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม ดังนั้น อัปไซเคิล จึงหมายถึงการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาแปรรูป ออกแบบ ต่อยอด และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Design) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีมูลค่ามากขึ้น และสามารถนำไปใช้งานได้จริง
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ผู้บริโภคได้หันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงสินค้าและบริการอัปไซเคิลด้วย โดยบริษัทวิจัยการตลาด Grand View Research ได้รวบรวมมูลค่าตลาดอัปไซเคิลทั่วโลก และคาดการณ์ว่า ในปี 2568 ตลาดอัปไซเคิล จะมีมูลค่า 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.6 ต่อปี เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดวัตถุดิบอัปไซเคิล (upcycled ingredients) ที่คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2575 โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ต่อปี
สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้ตลาดอัปไซเคิลขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ช่วยให้กระบวนการอัปไซเคิลมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตลง อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สามารถใช้วิเคราะห์รายละเอียดวัสดุเหลือใช้ ทำให้การแยกขยะมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และรวดเร็วขึ้น ใช้วิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือใช้วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) สามารถนำมาใช้ในกระบวนผลิตสินค้าอย่างยั่งยืน และออกแบบสินค้าให้มีเอกลักษณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อัปไซเคิลที่น่าสนใจ อาทิ แบรนด์ Forust ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ได้นำเศษขี้เลื่อยที่เหลือจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มาขึ้นรูปและใช้เทคโนโลยี 3D Printing ในการออกแบบชิ้นงาน ลายไม้ และสี รวมถึงพิมพ์เป็นรูปร่างต่างๆ อาทิ คอนโซลรถยนต์ โคมไฟ และแจกัน แบรนด์ The R Collective ของฮ่องกง ผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น ที่ใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์เนื้อผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิต เพื่อคัดเลือกวัสดุผ้าคุณภาพดีที่สุดแล้วนำมาตัดเย็บเป็นชิ้นงานใหม่ และแบรนด์ Rothy’s ของสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตรองเท้า กระเป๋า
และเครื่องประดับ โดยนำขวดพลาสติกมาผลิตเป็นเส้นใยและถักทอด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ในประเทศไทยก็มีผลิตภัณฑ์อัปไซเคิลหลากหลายมากขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้น อาทิ แบรนด์ PIPATCHARA ที่ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากฝาขวดพลาสติก แบรนด์ Uptoyou ที่ผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลาย และแบรนด์ PlanToys ที่ผลิตของเล่นจากต้นยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยาง วัสดุเหลือใช้จากการผลิตไม้ ขี้เลื่อย และวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอัปไซเคิลของไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต มาจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและยอมรับผลิตภัณฑ์อัปไซเคิลให้มากขึ้น รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและตราสัญลักษณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรวบรวมและแยกขยะ ออกแบบ และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และการสนับสนุนทุกภาคส่วน อาทิ มาตรการทางการเงิน ภาษี และการลงทุนในธุรกิจหมุนเวียน การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อัปไซเคิล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมหลากหลาย เพื่อสนับสนุนธุรกิจอัปไซเคิล ได้แก่ การพัฒนาองค์ความรู้และบ่มเพาะผู้ประกอบการ การพัฒนาและสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและธุรกิจบริการไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองแนวโน้มสำคัญของโลก (Megatrends) รวมถึงแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างการรับรู้ ส่งเสริมภาพลักษณ์และช่องทางการตลาด โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ การประชาสัมพันธ์ และการมอบรางวัลและตราสัญลักษณ์ให้กับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้