- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 24 November 2024 11:59
- Hits: 1961
บริษัทตั้งใหม่ 10 เดือน 76,953 ราย เพิ่ม 2.18% คาดปีหน้ามีนิติบุคคลทะลุ 1 ล้านราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่ เดือน ต.ค.67 มีจำนวน 7,267 ราย เพิ่ม 9.33% ทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เพิ่ม 10.80% เลิกกิจการ 2,516 ราย เพิ่ม 12.32% ทุนจดทะเบียน 9,899.41 ล้านบาท เพิ่ม 10.56% รวม 10 เดือน ตั้งใหม่ 76,953 ราย เพิ่ม 2.18% เลิก 14,762 ราย ลด 3.20% ทั้งปีตั้งใหม่เกิน 9 หมื่นราย โต 5-15% คาดหลังกลางปีหน้า ไทยจะมีนิติบุคคลแตะ 1 ล้านรายแน่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ต.ค.2567 มีจำนวน 7,267 ราย เพิ่มขึ้น 9.33% ทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.80% เพราะมี 2 บริษัท ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ควบรวมกิจการกัน คือ แม็คโคร กับโลตัส เป็นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ส่วนการจัดตั้งใหม่รวม 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 76,953 ราย เพิ่มขึ้น 2.18% ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ลดลง 54.25% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และแปรสภาพบิ๊กซีเป็นบริษัทมหาชน โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ส่วนการจดทะเบียนเลิกเดือน ต.ค.2567 มีจำนวน 2,516 ราย เพิ่มขึ้น 12.32% ทุนจดทะเบียน 9,899.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.56% โดยเดือน ต.ค. มีนิติบุคคลที่เลิกกิจการมีทุนเกิน 1,000 ล้านบาท 1 ราย คือ บริษัท เอพี เอ็มอี 2 จำกัด ทุนจดทะเบียนเลิก 2,001 ล้านบาท และธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร และยอดรวมเลิกกิจการ 10 เดือน มีจำนวน 14,762 ราย ลดลง 3.20% ทุนจดทะเบียน 125,904.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.34% เพราะเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทุนจดทะเบียน 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ทั้งนี้ คาดการณ์จดทะเบียนในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค.) จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2568 ได้เริ่มแล้ว ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภคฟื้นตัว มีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค ทำให้มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อรองรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าทั้งปี จะตั้งบริษัทใหม่เกิน 90,000 ราย เพิ่มขึ้น 5-15%
สำหรับ ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ต.ค.2567 จำนวน 841,727 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท แยกเป็นบริษัทจำกัด 737,658 ราย สัดส่วน 78.33% ทุนรวม 16.15 ล้านล้านบาท สัดส่วน 72.30% ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 202,588 ราย สัดส่วน 21.51% ทุนรวม 0.47 ล้านล้านบาท สัดส่วน 2.11% และบริษัทจำกัดมหาชน 1,481 ราย สัดส่วน 0.16% ทุนรวม 5.72 ล้านล้านบาท สัดส่วน 25.59% โดยคาดว่า หลังกลางปี 2568 จะมีบริษัทจดทะเบียนทะลุ 1 ล้านราย
นางอรมน กล่าวว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 10 เดือน มีจำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 211 ราย สัดส่วน 27% ลงทุน 91,700 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 110 ราย สัดส่วน 14% ลงทุน 14,779 ล้านบาท 3.จีน 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 13,806 ล้านบาท 4.สหรัฐฯ 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 4,552 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 57 ราย สัดส่วน 7% ลงทุน 14,461 ล้านบาท
ทางด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 10 เดือน มีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146% เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท
ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า