- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 05 December 2024 16:29
- Hits: 1680
พาณิชย์ เผยการค้าเนื้อไก่โลกปี 68 เห็นแววรุ่ง ชี้ไทยมีโอกาสขยายส่งออกได้มากขึ้น
สนค.เผยสถานการณ์การค้าสินค้าเนื้อไก่โลก ปี 68 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการโปรตีนราคาถูกเพิ่มมากขึ้น ชี้เป็นโอกาสส่งออกของไทยที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แนะต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ควบคุมโรคระบาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า และคุมต้นทุนเลี้ยงให้เหมาะสม เพื่อให้สินค้าแข่งขันได้ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าเนื้อไก่ พบว่า ในปี 2568 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกเนื้อไก่โลกจะเพิ่มสูงที่สุดในประวัติการณ์
โดยจะเติบโต 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตัน และไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก ก็จะมีการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ต้องเฝ้าระวังการขยายการส่งออกของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ตลาดสินค้าสัตว์ปีก ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุว่า ปี 2568 การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% หรือประมาณ 104.9 ล้านตัน (ปี 2567 มีการผลิตประมาณ 103.0 ล้านตัน)
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย และความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งจีนที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้จีนกลับมาเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลกอีกครั้ง (จีนเคยเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับที่ 1 ของโลก และถูกบราซิลแซงในปี 2565)
สำหรับ การส่งออกเนื้อไก่โลกปี 2568 ที่จะเติบโตที่ 2% อยู่ที่ 13.8 ล้านตันนั้น (ปี 2567 มีการส่งออกประมาณ 13.6 ล้านตัน) เป็นเพราะความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น โดยไก่เป็นโปรตีนราคาถูกที่ดึงดูดผู้บริโภครายได้ปานกลาง รวมทั้งการสนับสนุนจากซัปพลายเออร์ผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการขยายการส่งออกของบราซิล ทำให้ส่วนแบ่งการส่งออกของบราซิลขยายตัวต่อเนื่อง และกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ของยุโรปและสหรัฐฯ
โดยเฉพาะในตลาดนำเข้า ได้แก่ เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งบราซิลสามารถแข่งขันกับซัปพลายเออร์อื่นในด้านราคา และมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้คาดว่าในอนาคตบราซิลอาจแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ส่งออกเนื้อไก่รายอื่น ๆ อาทิ สหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น
โดยการส่งออกเนื้อไก่ของโลกในปี 2568 มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.การควบคุมโรคระบาด บราซิลคงสถานะปลอดโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza: HPAI) การระบาดจำกัดอยู่เฉพาะนกป่าและไม่มีการระบาดเชิงพาณิชย์ จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตและการค้า เช่นเดียวกับไทยที่ไม่พบการระบาดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2552
รวมทั้งการควบคุมการระบาดของโรค HPAI ของสหภาพยุโรป จะช่วยสนับสนุนการส่งออกเนื้อไก่ของโลกไปยังตลาดต่างๆ 2.การมุ่งผลิตเพื่อส่งออก บราซิลและไทยมีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าเพื่อตลาดภายในประเทศ แตกต่างจากยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้บราซิลและไทยสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า เช่น ไก่ทั้งตัว เนื้อถอดกระดูก เนื้ออก ผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง เป็นต้น และ 3.ต้นทุนการผลิต บราซิลเป็นผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองรายใหญ่ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยมีการส่งออกสินค้าไก่ ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.–ต.ค.) มูลค่ารวม 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (126,976 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไก่ปรุงสุกไปตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ส่วนการส่งออกสินค้าไก่ของไทยประกอบด้วย 1.ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่าส่งออก 1,131.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (39,967 ล้านบาท) ลด 0.2% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่
1.ญี่ปุ่น สัดส่วน 36.85% ของมูลค่าส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย 2.จีน สัดส่วน 32.39% 3.มาเลเซีย สัดส่วน 14.37% 4.เกาหลีใต้ สัดส่วน 4.37% และ 5.ฮ่องกง สัดส่วน 3.13% 2.ไก่แปรรูป มูลค่าส่งออก 2,461.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (87,009 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7.4%
ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ 1.ญี่ปุ่น สัดส่วน 47.58% ของมูลค่าส่งออกไก่แปรรูปของไทย 2.สหราชอาณาจักร สัดส่วน 27.21% 3.เนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 6.13% 4.เกาหลีใต้ สัดส่วน 4.47% และ 5.สิงคโปร์ สัดส่วน 4.24%
“ในปี 2568 การส่งออกเนื้อไก่ของโลกและไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อื่นๆ เช่น บราซิล สหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูป อันดับที่ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เคยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก โดยในปี 2566 ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 25.8% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก รองลงมา คือ จีน สัดส่วน 11.0% เยอรมนี สัดส่วน 9.3% โปแลนด์ สัดส่วน 8.9% และเนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 8.6%
ซึ่งไทยจะต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ โดยต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ดูแลต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยให้เหมาะสมเพื่อสินค้าไทยแข่งขันได้ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค”นายพูนพงษ์กล่าว