- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 05 December 2024 16:53
- Hits: 1682
กรมพัฒน์ฯ เยียวยานิติบุคคล 8 จังหวัดใต้เจอน้ำท่วม ยืด-ผ่อนผันการทำธุรกรรม
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับนโยบาย'พิชัย-นภินทร' เดินหน้าเยียวยานิติบุคคลใน 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปแบบไม่สะดุด ออกมาตรการขยายระยะเวลาจดทะเบียนนิติบุคคล แจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การนำส่งงบการเงิน โดยให้ชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นและหลักฐาน ให้เจ้าหน้าที่พิจารณา หลังสถานการณ์สิ้นสุดลง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 จนถึงปัจจุบัน ได้สร้างความเสียหายแก่นิติบุคคลและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเป็นอย่างมาก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และเร่งเยียวยาภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วน
โดยกรมในฐานะที่ดูแลนิติบุคคล ได้ออกมาตรการกำหนดให้นิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตประสบภัยพิบัติ ไม่สามารถเดินทางมาดำเนินการจดทะเบียน หรือนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือดำเนินการอื่นใดต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย รวมถึงเอกสารสูญหาย เสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว สามารถขอยืดระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมายได้
สำหรับ รายละเอียดมาตรการ ได้แก่ 1.นิติบุคคลผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่ประสบเหตุ สามารถขอขยายเวลาและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ทำให้ไม่อาจดำเนินการยื่นจดทะเบียน ยื่นงบการเงิน ยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)
รวมถึงการแจ้งบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายที่ต้องแจ้งต่อสารวัตรบัญชี ภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกำหนดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาขยายเวลาในการยื่นเอกสารหรือดำเนินการตามกฎหมายของนิติบุคคล
ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาหรือดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่สถานการณ์อุทกภัยได้สิ้นสุดลง
2.กรณีนิติบุคคลใดได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิด กรณีไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การยื่นคำขอจดทะเบียน การแจ้งบัญชีสูญหายหรือเสียหาย การยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ การนำส่งงบการเงินเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประสบอุทกภัย สามารถชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น และหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทำให้ไม่อาจดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกำหนดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณายุติเรื่องและไม่ออกคำสั่งปรับเป็นพินัยตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย
นางอรมน กล่าวว่า กรมได้มีการพัฒนาระบบจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการด้านต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวก ข้อมูลมีความถูกต้อง รวดเร็ว และทันสมัย เพื่อเพิ่มช่องทางและลดอุปสรรคให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับบริการอย่างเต็มรูปแบบ ไม่จำกัดเวลา และสถานที่ โดยกรมมีความมุ่งหมายให้ช่องทางออนไลน์ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจและช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการติดต่อกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย แต่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้
“กรมให้ความสำคัญต่อแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังประสบเหตุอุทกภัยให้สามารถชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุทำให้ไม่อาจดำเนินการในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
รวมถึงสามารถใช้ช่องทางออนไลน์เป็นส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยความมั่นใจ และกรมขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัยครั้งนี้ทุกท่าน และพร้อมจับมือก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”นางอรมนกล่าว
ข้อมูลจาก DBD Datawarehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 30 พ.ย.2567 พบว่า 8 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม มีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 31,759 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 231,616.30 ล้านบาท แบ่งเป็น สงขลา 13,109 ราย ทุน 135,015.44 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 7,329 ราย ทุน 34,401.35 ล้านบาท ตรัง 2,950 ราย ทุน 22,374.88 ล้านบาท พัทลุง 2,117 ราย ทุน 5,637 ล้านบาท ยะลา 1,817 ราย ทุน 11,787.44 ล้านบาท ปัตตานี 1,753 ราย ทุน 9,543.10 ล้านบาท นราธิวาส 1,743 ราย ทุน 8,415.09 ล้านบาท และสตูล 941 ราย ทุน 4,442 ล้านบาท