WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลก แนะธุรกิจ-ผู้ประกอบการตามใหั้ทัน

      ไทยโพสต์ : องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2557 ว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.8 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อต้นปี 2557 สาเหตุมาจากการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาปรับลดลงจากเดิมร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 4.7 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2557 ยังสูงกว่าปี 2556 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 และเศรษฐกิจโลกจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องถึงปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.2 โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EURO Zone ได้พ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเริ่มขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เช่น จีน การเติบโตอาจชะลอตัวลงบ้าง ส่วนบราซิล รัสเซียและอินเดีย เศรษฐกิจจะมีความแข็งแกร่งขึ้น

     กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประเมินและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะมีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องถึงเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งออก การค้าขาย การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย

    นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) ทำการประเมินและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในทุกๆ ด้าน เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อทราบแนวโน้มต่างๆ แล้ว ก็ต้องมีประเมิน วิเคราะห์ หาโอกาส หรือหากมีผลกระทบ ก็ต้องหาทางรับมือให้ได้อย่างทันท่วงที

    ทั้งนี้ ในปี 2557 ได้มีการประเมินว่า เงินเฟ้อ (Inflation) ของโลก ยังจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วจะมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) อัตราการว่างงานสูง ในขณะที่จะมีวินัยทางการคลัง รัดเข็มขัดและลดหนี้สาธารณะมากขึ้น ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียใต้และแอฟริกา จะมีเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 10

   ด้านการค้าระหว่างประเทศของโลก (International Trade) จะขยายตัวปานกลาง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นระดับปานกลางในกลุ่ม EURO Zone เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวและเศรษฐกิจในประเทศเอเชียตะวันออกกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยการค้าระหว่างประเทศในปี 2557 และ 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 5.1 ตามลำดับ โดยการค้าบริการจะฟื้นตัวดีกว่าการค้าสินค้า ทั้งนี้ ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Prices) ยังคงทรงตัว โดยราคาของสินค้าอาหารและสินค้าที่ทำจากโลหะมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันยังคงผันผวน

    สำหรับ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีแนวโน้มที่โลกจะให้ความสำคัญต่อการจัดทำข้อตกลงการค้าในภูมิภาคมากขึ้น โดยปัจจุบันมีข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคที่มีผลบังคับใช้แล้ว 379 ฉบับ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าในภูมิภาคขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมการค้าส่วนใหญ่ของโลก 2 ความตกลง ได้แก่ การเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Trans-Atlantic Trade and Investment Partnership : TTIP) ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศ รวมสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หากประเทศกำลังพัฒนาไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนาได้

    นางศรีรัตน์ กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่มีนัยสำคัญของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าและออกในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์ต่ำลงจากการถูกเทขาย และการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของสกุลเงินในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ การประกาศลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing : QE) ของสหรัฐฯ ปัญหาการว่างงานสูงในกลุ่มประเทศ EURO Zone อาทิ กรีซ และสเปน ซึ่งยังว่างงานสูงถึงร้อยละ 27 โดยเป็นการว่างงานของวัยหนุ่มสาว (Youth Unemployment) ส่วนสหรัฐฯ แม้จะมีอัตราการว่างงานลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง และยังมีความเสี่ยง ความไม่แน่นอนจากนโยบายทางการเงิน โดยเฉพาะนโยบาย QE และความตึงเครียดของสถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ

   อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกหลังปี 2558 มีประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตาม ก็คือ การพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ การศึกษา การพัฒนา SMEs และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

   "ที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพยายามบอกกล่าว และหาทางให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ เรียนรู้ เตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการประเมิน ติดตาม ประเด็นทางเศรษฐกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และนำมาศึกษา วิเคราะห์ และแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมอย่างทันท่วงทีแล้ว"นางศรีรัตน์กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!