WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cฉตรชย สารกลยะก.พาณิชย์ไทย จับมือ เวียดนาม ตั้งเป้าหมายการค้าร่วม 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 63

  พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายหวู ฮวี ฮว่าง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม  ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระหว่างไทยกับเวียดนาม ครั้งที่ 2 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมด้วยผลการประชุมที่สำคัญมีดังนี้

   ไทยและเวียดนามเห็นชอบให้ตั้งเป้าหมายการค้า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม ปี 2558-2563 อันจะเป็นกรอบในการดำเนินงานความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อาทิ การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ดังนี้

   1. ในความร่วมมือด้านเกษตร ได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพ โดยขณะนี้เวียดนามกำลังพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกไตรภาคียางพารา ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความร่วมมือในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างกัน สำหรับผลไม้ไทย 4 ชนิด คือ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ และเงาะ และผลไม้จากเวียดนาม 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย และลิ้นจี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช

   2. ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้มีความคล่องตัวในการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้ง ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันให้การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการให้บริการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางระหว่างไทยกับเวียดนามสรุปผลได้โดยเร็ว และจะร่วมกันชักชวนให้ สปป.ลาว เห็นด้วยกับที่จะรวมเส้นทาง R8 และ R12 ไว้ในความความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-regional Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA) ด้วย

   3.เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในการลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงิน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านการธนาคาร โดยจะส่งเสริมการเข้าไปจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในประเทศของอีกฝ่าย อีกทั้งยังจะสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คือ เงินบาทและเงินด่อง ในการทำธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น

   4.ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการเรื่องการจัดตั้งกลไกการหารือเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนอย่างไม่เป็นทางการ อันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่ายได้พบหารือและเจรจาทางธุรกิจระหว่างกัน ในโอกาสเดียวกัน ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนของเวียดนามเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เพื่อใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันในภูมิภาค และสร้างความเชื่อมโยงสายการผลิตระหว่างกัน

   5.ด้วยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดเรื่องการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-เวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ตามที่ฝ่ายไทยเสนอ เพื่อเป็นช่องทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ อันจะช่วยลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

   6.นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังยินดีที่จะมีความร่วมมือกันในด้านแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า อีกทั้งตกลงที่จะศึกษาการเปิดเส้นทางการเดินเรือชายฝั่งระหว่างสองประเทศ สนับสนุนสายการบินของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งจะมีการจัดประชุมความร่วมมือด้านการพลังงาน เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน และจัดทำข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล รวมทั้งยืนยันที่จะร่วมมือกันผลักดันความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 รวมทั้งการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี ค.ศ. 2025 ให้สามารถสรุปผลได้ภายในปลายปีนี้ด้วย

   ปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทยในอาเซียนและอันดับที่ 11 ของไทยในโลก ในขณะที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของเวียดนาม ในด้านการนำเข้า และอันดับที่ 12 ในด้านการส่งออกในปี 2557 การค้าไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 11,826.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13.1 แบ่งเป็น การส่งออกไทยไปเวียดนาม 7,888.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 3,937.62 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ สัตว์น้ำแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ กาแฟ ชา เครื่องเทศ ด้ายและเส้นใย เป็นต้น

   การลงทุนที่สำคัญของไทยในเวียดนาม เช่น การท่องเที่ยวและการบริการเกี่ยวเนื่อง ภัตตาคาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และธุรกิจบริการ เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมมือกันในการผลักดันให้การค้าไทย-เวียดนาม บรรลุเป้าหมายการค้าตามที่ตั้งไว้

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!