WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ลุ้นส่งออกฟื้นไตรมาส 3'พาณิชย์'ยืนกรานเป้าสิ้นปีโต 3.5%

     แนวหน้า : กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ยังชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบร้อยละ 2.14 ขณะที่การปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ยังไม่มีผลกระทบระยะสั้น เนื่องจากยังไม่มีมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า เชื่อภาพรวมยังขยายตัวได้

     นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการค้าของไทยและ เดือนพฤษภาคม 2557 ว่า การส่งออกในเดือนนี้ยังคงชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 โดยมีมูลค่า 19,401.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 2.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในรูปเงินบาทคิดเป็นมูลค่า 654,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.81% โดยสาเหตุที่การส่งออกยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีความไม่แน่นอน ควบคุมไม่ได้ ทั้ง ยางพาราและมันสำปะหลังราคายังคงตกต่ำ แม้ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น น้ำตาลทรายแดงราคาตกต่ำ เป็นต้น รวมถึงการส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูปลดลง จากปัญหาโรคตายด่วน ส่วนในช่วง 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค. 2557) ส่งออกมีมูลค่า 92,862.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.22% แต่ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 2,994,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.26%

      พร้อมยืนยันว่า การส่งออกในปีนี้ จะยังไม่มีการปรับลดเป้าลงยังคงเป้าหมายเดิมที่ 3.5% โดยจากนี้ไปในไตรมาสที่ 3 จะต้องทำรายได้จากการส่งออกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5%

      “กระทรวงจะมีการช่วยเหลือด้านการส่งออกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการหาตลาด มีการหารือปรับแผนกับภาคเอกชน จะมีการส่งเสริมสินค้ามูลค่าเพิ่ม และเชื่อว่าทาง คสช.ก็จะมีการช่วยเหลือด้านนี้เต็มที่ จึงมองว่าการที่ไทยจะส่งออกได้ตามเป้าที่วางไว้ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก สัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกก็เริ่มมีให้เห็น”

     ส่วนการนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2557 มีมูลค่า 20,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐติดลบร้อยละ 9.32 ทำให้ระยะ 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.- พ.ค.) มีมูลค่านำเข้ารวม 94,418 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบถึงร้อยละ 14 โดยตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบค่อนข้างมาก เพราะตลาดหลัก เช่น จีน ชะลอการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาท อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้มีการชะลอนำเข้าสินค้าทุนส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนพฤษภาคม 2557 ไทยขาดดุล 808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 เดือนแรกไทยขาดดุล 1,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    นางนันทวัลย์ กล่าวถึงกรณีการการจัดลำดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 3ของ สหรัฐฯ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับ นั้น มองว่าในระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบต่อการค้าของไทย แต่เท่าที่ทาง สาคม สมาพันธ์ประมงของสหรัฐฯ (NFI) ได้แถลงร่วมกันออกมาก็ยืนยันว่าไม่มีการยกเลิกการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย โดยยืนยันว่าจะยังทำการค้ากับเอกชนไทยที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา เพราะหากมีการยกเลิกการค้าก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมในระยะยาว

   ส่วนกรณี สหภาพยุโรป(อียู)ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเพราะเป็นแค่การยกเลิกการเดินทางมาเยือน และชะลอการลงนามในข้อตกลงต่างๆซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเจรากันไปกับกระทรวงการต่างประเทศและก็ยังไม่ได้มีการลงนามใดๆอยู่แล้ว

   “การที่สหภาพยุโรปประกาศลดความร่วมมือกับไทย กระทรวงมองว่าจะมีผลในระยะสั้นแค่ชะลอการเดินทางมาเยือนไทย แต่เชื่อว่าในทางการค้าจะไม่มีผลกระทบ เพราะไม่ใช่การคว่ำบาตร ส่วนกรณีเทียร์3 ของ เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบเช่นกัน เพราะทางคู่ค้าในสหรัฐได้ประกาศชัดเจนว่าไม่มีผลต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย กระทรวงจึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับเป้าหมายการส่งออกสินค้าไปยัง สหรัฐ และยุโรป”

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!