WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ เผย มิ.ย.57 CPI ขยายตัว 2.35% ส่วน Core CPI ขยายตัว 1.71%

    นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน มิ.ย.57 อยู่ที่ 107.79 เพิ่มขึ้น 2.35% จากเดือน มิ.ย.56 แต่ลดลง 0.10% จาก พ.ค.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 6 เดือน(ม.ค.-มิ.ย.57) เพิ่มขึ้น 2.23%

    "เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจากมาตรการดูแลค่าครองชีพตามนโยบายของ คสช.ที่มีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน และดีเซล นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้า 6 เดือน ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง"นางอัมพวัน กล่าว

    ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) อยู่ที่ 104.83 เพิ่มขึ้น 1.71% จากเดือน มิ.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.05% จาก พ.ค.57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.57) เพิ่มขึ้น 1.45%

    สำหรับ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.57 อยู่ที่ 113.36 เพิ่มขึ้น 4.14% จาก มิ.ย.56 แต่ลดลง 0.31% จาก พ.ค.57 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 104.68 เพิ่มขึ้น 1.41% จากเดือน มิ.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.01% จาก พ.ค.57

     หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลงตามการลดลงของราคาผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักสด เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม และเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เช่น ผักกาดขาว ผักคะน้า เห็ด ผักบุ้ง มะนาว ส้มเขียวหวาน เงาะ ฝรั่ง ชมพู่ ลำไย มังคุด และลิ้นจี่ รวมทั้งราคาข้าวสารเหนียว ปลาทู กุ้งขาว กระเทียม และน้ำมันพืช ปรับลดลง ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหมวดดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นจากค่าเช่าบ้านที่ปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก รวมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน  มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

    "เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่าง 0.5-3.0% ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนมิถุนายน 2557 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย" นางอัมพวัน กล่าว

     สำหรับ อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 2.23% นั้น ถือว่าอยู่ในอัตราที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดี ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.53% ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งน้ำมันดีเซลถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของการผลิตในทุกสาขา

    "เงินเฟ้อครึ่งปีหลังคาดว่าจะสูงขึ้นเล็กน้อย โดยไตรมาส 3 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5% ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.56% ซึ่งเงินเฟ้อครึ่งปีหลังที่สูงขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นหลัก" นางอัมพวัน กล่าว

    ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงปลายปีจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 107.92 ดอลลาร์/บาร์เรล

    ขณะที่ทั้งปีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.4% ซึ่งเป็นไปตามกรอบของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.0-2.8%

                        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!