WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนะผู้ส่งออกย้ายฐานผลิต ลดผลกระทบหลังถูกอียู-สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี

    แนวหน้า : ลดผลกระทบหลังถูกอียู-สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี-สินค้าขายไม่ออกหากขยับราคา แนะผู้ส่งออกย้ายฐานผลิต

      ผู้ส่งออกไทยปั่นป่วน สินค้าเกือบพันรายการส่อถูกคู่แข่งชิงตลาด หลัง สหรัฐ-อียูตัดสิทธิจีเอสพี 1 ก.ค.2558 นี้ ซ้ำหากขึ้นราคาสินค้าขายไม่ได้แน่ แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพ สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือ ชี้ทางออกเดียวคือต้องย้ายฐานไปผลิตในประเทศกำลังพัฒนาและ ส่งออกจากที่นั่น เพื่อยังคงให้ได้รับสิทธิ ส่วนออเดอร์เดิม ต้องรีบจัดส่งก่อนสิ้นปี

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากไทยถูกตัดออกจากบัญชีสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ในปี’58 ไทยก็จะถูกคู่แข่งสำคัญ เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ยูเครน และฟิลิปปินส์ เข้ามาแย่งตลาดส่วนแบ่งตลาดอียูของสินค้าไทยในบางประเภทได้ โดยในช่วงปี’57 มีสินค้าไทยที่ถูกตัดจีเอสพีตลาดยุโรป 50 รายการ มีมูลค่าการส่งออกประมาณกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเกินระดับที่อียูกำหนด เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ กล้วย มะละกอ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง อาหารสัตว์ แป้ง ยาง รถจักรยานยนต์ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป สินค้าอีก 723 รายการ เช่น กุ้ง จักรยาน รองเท้า รถจักรยานยนต์ ปลาหมึก เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม มอเตอร์ไฟฟ้า บอลแบริ่ง น้ำมันปาล์มดิบ ล้อรถยนต์ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าส่งออกไปอียูไม่ต่ำกว่าปีละ 6,600 ล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกตัดสิทธิจีเอสพี เนื่องจากไทยถูกจัดลำดับของธนาคารโลกให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงเป็น เวลาต่อเนื่องเกินกว่า 3,975 เหรียญสหรัฐต่อคนเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่าไทยจะมีรายได้ต่อคนเกิน 4,150 เหรียญสหรัฐ

    นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าในตลาดอียูระหว่างการปรับรูปแบบการทำตลาด และเจรจาการขอปรับราคาสินค้าเฉลี่ย 3-5% กับลูกค้า เพราะหลังจากในวันที่ 1 ม.ค. 2558 จะมีสินค้าไทย 723 รายการถูกตัดออกจากบัญชีสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป จากเดิมที่ถูกตัดสิทธิไปแล้ว 50 รายการ แต่เบื้องต้นทางลูกค้าในตลาดอียูหลายรายไม่ต้องการให้ไทยปรับขึ้นราคา เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่พร้อมที่จะซื้อสินค้าที่แพงขึ้น

    ทั้งนี้ หากไม่สามารถปรับราคาตามต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น อาจทำให้สินค้าบางประเภทไม่สามารถที่ส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ เพราะยิ่งส่งมากก็ยิ่งขาดทุนมาก ทำให้ผู้ส่งออกบางรายจำเป็นต้องมีการหาตลาดส่งออกสินค้าอื่นเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน เป็นต้น ส่วนสินค้าบางประเภทที่ภาษีปรับขึ้นจากเดิมไม่มากก็ยังคงแข่งขันได้ตามปกติ

     อย่างไรก็ตาม ทางลูกค้าในยุโรปหลายกลุ่ม ได้เสนอให้ผู้ส่งออกไทยที่มีเงินทุนควรขยายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพีเกือบ 100% หรือสินค้าหลายอย่างเสียภาษี 0% เช่น ประเทศลาว พม่า กัมพูชา บังกลาเทศ เพราะได้รับสิทธิ์ในฐานะประเทศที่ยังด้อยการพัฒนา และควรขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ในการส่งออกไปสหรัฐ เช่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี

    “ลูกค้ามองว่าผู้ผลิตสินค้าของไทยมีศักยภาพ และมีสินค้าที่เป็นที่พอใจของผู้บริโภคตลาดยุโรปจึงอยากมีการทำการค้ากับผู้ประกอบการไทยต่อไป เพราะหากต้องเปลี่ยนไปสั่งออเดอร์กับลูกค้าประเทศอื่น ก็กังวลว่าอาจได้รับสินค้าไม่ดีเท่ากับไทย”

    อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นพบว่าก็มีผู้ผลิตสินค้าไทยหลายๆประเภทก็ได้เตรียมความพร้อมในการขยายฐานการผลิตไปยังทีพีพีแล้ว เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์ โดยในอนาคตก็คงต้องเพิ่มกำลังการผลิตในสาขาที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อของยุโรป ทั้งนี้ยังมองว่าหากไทยถูกตัดจีเอสพี ในระยะเร่งด่วนผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ไขเพื่อรักษาตลาดอียูได้

   “แม้สิทธิพิเศษจีเอสพีจะไม่ได้ลดภาษีเป็น 0% แต่ก็ช่วยลดอัตราภาษีได้พอสมควรซึ่งมีผลต่อต้นทุนของผู้นำเข้า เช่น รองเท้าผ้าใบอัตราภาษีที่ได้จากจีเอสพีอยู่ที่ 7.8% แต่เมื่อไม่มีสิทธิพิเศษจีเอสพีภาษีจะอยู่ที่ 17.8% ซึ่งถือว่าการแข่งขันหรือการส่งออกของไทยไปยุโรปโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นยาก”

    นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ผู้ผลิตสินค้าไทยที่มีออเดอร์ตลาดยุโรปในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าต้องเร่งผลิตสินค้าให้เร็วขึ้นเพื่อสามารถส่งสินค้าจากท่าเรือไทยก่อนวันที่ 25 พ.ย. 2557 ซึ่งจะทำให้เรือสามารถส่งสินค้าได้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. นี้ หากส่งหลังจากนั้นสินค้าจะต้องเสียภาษีตามปกติหรือไม่ได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพี ที่จะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!