WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์เผย มี.ค.ส่งออกหด 3.12%,นำเข้าหด 14.19% เกินดุล 1,459 ล้านดอลล์

    นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.57 หดตัวลดลง 3.12% ที่มูลค่า 19,940.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าหดตัวลดลง 14.19% ที่มูลค่า 18,481 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน มี.ค.57 เกินดุลการค้า 1,459.6 ล้านดอลลาร์

    ทั้งนี้ ส่งผลให้การส่งออกในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปี 57 หดตัว 1% ที่มูลค่า 56,211.1 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าหดตัวลดลง 15.41% ที่มูลค่า 55,505.1 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกินดุลการค้าอยู่ 706 ล้านดอลลาร์

    "การส่งออกของไทยไตรมาสแรกชะลอตัวในอัตราที่ลดลง โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น และตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2" นางศรีรัตน์ กล่าว

       โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกสินค้า ได้แก่ ราคาส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวขาว 5% ปรับตัวลดลง และมีระดับราคาที่ไม่แตกต่างกับประเทศคู่แข่งจึงสามารถแข่งขันได้ ทำให้การส่งออกข้าวขาวไปยังโตโก มาเลเซีย และแคเมอรูน ขยายตัวมากขึ้น, ความต้องการยางพาราของผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่นปรับตัวลดลง รวมทั้ง เศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นชะลอตัว ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ยาง ประกอบกับสต็อกยางทั่วโลก ยังคงมีอยู่ในระดับสูง, จีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญมีความต้องการใช้มันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง

                ผลผลิตกุ้งลดลง เนื่องจากฟาร์มเพาะลูกกุ้งยังมีพ่อแม่พันธุ์จำกัด ประกอบกับความต้องการจากตลาดญี่ปุ่นยังคงซบเซา จากการที่รัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 8% จะส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายในระยะสั้นๆ, ความต้องการผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูปในตลาดโลกมีสูง อาทิ ความต้องการข้าวโพดหวานกระป๋องในตุรกี และความต้องการลิ้นจี่กระป๋องในสหรัฐฯ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนมาตรการนำเข้าของอินโดนีเซีย ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะลำไย, สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น หลังยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้า ประกอบกับลาว มีความต้องการบริโภคไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นเช่นกัน, อินโดนีเซีย ผู้นำเข้าน้ำตาลทรายรายใหญ่ ลดปริมาณการนำเข้าลง หลังจาก The Indonesian Sugar Council คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลปี 57 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับอุปสงค์น้ำตาลทั่วโลกลดลง เนื่องจากในช่วงที่ราคาตกต่ำ ได้มีการซื้อขายไปเป็นจำนวนมากแล้ว

       สำหรับ ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ตลาดหลัก ขยายตัว 2.7%(YoY) โดย สหรัฐอเมริกา EU (15) และญี่ปุ่น ขยายตัว 3.6%, 2.9% และ 1.6% (YoY) ตามลำดับ สำหรับตลาดศักยภาพสูง หดตัว 8.5%(YoY) โดยอาเซียน (9) และจีน หดตัว 10.9% และ 11.2% ตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกงและอินเดีย ขยายตัว 0.1% และ 6.7% ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาดศักยภาพรอง ที่หดตัว 5.3%(YoY) โดยทวีปออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา หดตัว 23.3% และ 6.3% ตามลำดับ ขณะที่แอฟริกา EU (12) และตะวันออกกลาง ขยายตัว 6.7%, 3.8% และ 1.3% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตลาดอื่นๆ ยังคงขยายตัวสูง 253.7% โดยเฉพาะสวิสเซอร์แลนด์ ขยายตัว 459.1% จากการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับค่อนข้างมาก

      ขณะที่ช่วงไตรมาสแรก ตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 ซึ่งขยายตัว 2.4% (AoA) ในทางตรงกันข้าม ตลาดศักยภาพสูง และตลาดศักยภาพรอง ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โดยหดตัว 4.7% และ 3.4%(AoA) ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอื่นๆ กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นไตรมาสแรก หลังจากติดลบในปี 2556 ที่ผ่านมา โดยขยายตัว 188.6% (AoA) จากการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสำคัญ

      ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ 5% ภายใต้สมมติฐาน 1) อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.6-3.7%(ตามการคาดการณ์ของ IMF) 2) ราคาสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมโลก สูงขึ้น 1.3% และ 3) อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ(ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยเท่ากับ 32.7 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)

      ขณะที่คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 จะสามารถขยายตัวได้ 4.0-4.5% ภายใต้สมมติฐานเดียวกัน โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การคลี่คลายของปัญหาการระบาดของโรคกุ้งทะเลตายด่วน(EMS) ความไม่แน่นอนของปัญหาการเมืองภายในประเทศ ปัญหาภัยแล้ง สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน การตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) สินค้าไทย ของสหรัฐอเมริกา และความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง

     และจากการสำรวจดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก ซึ่งจัดทำโดยสำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า พบว่า ผู้ประกอบการส่งออก 42.6% คาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 57(เม.ย.-มิ.ย.) จะดีขึ้น อีก 39.7% คาดว่าไม่เปลี่ยนแปลง และที่เหลือ 17.7% คาดว่าลดลง ทำให้ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกมีค่าเท่ากับ 62.4 แสดงว่าการส่งออกของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 57

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!