WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ยันส่งออกครึ่งหลังปีนี้แจ่ม คงเป้าทั้งปีนี้โต 3.5% หลังสินค้าอุตสาหกรรม-เกษตรส่งสัญญาณฟื้นตัว ดันส่งออก มิ.ย.โต 3.90% จากเดือนก่อนติดลบ 2.14%

    พาณิชย์ ยันส่งออกครึ่งหลังปีนี้แจ่ม คงเป้าทั้งปีนี้โต 3.5% หลังสินค้าอุตสาหกรรม-เกษตรส่งสัญญาณฟื้นตัว ดันส่งออก มิ.ย.โต 3.90% จากเดือนก่อนติดลบ 2.14% ส่วนนำเข้า มิ.ย.57 ติดลบ 14.03% ส่งผลเกินดุลการค้า 1.79 พันล้านเหรียญฯ

    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน จากการที่มูลค่าการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น จนกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 พร้อมกับสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคตะวันตก รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เป็นต้น

    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.5%

   นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 1.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากจากเดือน พ.ค.57 ที่ติดลบ 2.14 %  ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักกลับมาขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มยานพาหนะ และส่วนประกอบ กลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 9.6, 9.2, 3.4, 3.4, 3.3, 3.2, 2.5, และ 0.8 (YoY) ตามลำดับ

    ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.9 (YoY) จากการชะลอตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม เนื่องจากผ่านพ้นฤดูร้อนไปแล้ว การส่งออกเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบก็เริ่มชะลอตัวลงร้อยละ 3.4 (YoY) จากการเร่งส่งออกในช่วงเทศกาลบอลโลกทำให้การส่งออกในแทบทุกตลาดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในตลาดเบลเยียม สิงคโปร์ และฮ่องกง เช่นเดียวกับการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่ชะลอตัวลงร้อยละ 3.4 (YoY) เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญลดลง ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

     ส่วนสินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เดือน มิ.ย. 57 กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกที่ร้อยละ 2.6 (YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารประเภทผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น แต่สินค้าส่งออกที่ยังคงหดตัว ได้แก่ ยางพารา ซึ่งขยายตัวในเชิงปริมาณส่งออกร้อยละ 11.4 (YoY) แต่ราคากลับหดตัวลงถึงร้อยละ 28.9 (YoY) เนื่องจากการขยายตัวของอุปทานยางพาราในตลาดโลก ขณะที่อุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร การส่งออกน้ำตาลลดลง เนื่องจากปริมาณส่งออกที่หดตัวร้อยละ 26.3 (YoY) และราคาที่หดตัวลงร้อยละ 6.6 (YoY)

   ขณะที่การนำเข้าในเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 1.80 หมื่นล้านดอลลาร์ ติดลบ 14.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ติดลบ 9.32 % เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกในช่วงเวลาที่ผ่านมาชะลอตัว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อนำเข้ามาผลิตลดลงโดยสินค้านำเข้ากลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หดตัวสูงถึงร้อยละ 12.2 (YoY) โดยเฉพาะการลดลงของการนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น เช่นเดียวกับสินค้าทุนที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 เช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 4.1 (YoY) จากการลดลงของการนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อย่างไรก็ดี มีการนำเข้าสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นการส่งสัญาณถึงการขยายการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความชัดเจนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลอดจนการอนุมัติโครงการลงทุนที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และจะสามารถส่งเสริมให้การผลิตสินค้าขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้

    แม้ว่า การนำเข้าในภาพรวมจะหดตัวสูง แต่การนำเข้าสินค้าอุปโภค/บริโภค ขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.1 (YoY) โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก

    ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือน มิ.ย. 57 เกินดุลรวม 1,792.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

   นางนันทวัลย์  เปิดเผยถึงมูลค่าการส่งออกในระยะ 6 เดือน (ม.ค. - มิ.ย. 57)  ว่า มีมูลค่า 112,704.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 0.35%  ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 112,467.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 14%  เกินดุลรวม 236.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

พาณิชย์ เผยส่งออกมิ.ย.57 โต 3.90% นำเข้าหด 14.03% เกินดุล 1.8 ล้านดอลล์

      นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.90% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนมาที่ 19,842.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวลดลง 14.03% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนมาที่ 18,049.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้า มิ.ย.57 เกินดุล 1,792.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

    "การส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นไตรมาสแรก หลังจากหดตัวต่อเนื่องนานถึง 4 ไตรมาส โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ขยายตัว 0.30%" นางนันทวัลย์ กล่าว

    ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.57) การส่งออกอยู่ที่ ขยายตัวลดลง 0.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำเข้าขยายตัวลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน แต่ดุลการค้ายังเกินดุล 236.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

    นางนันทวัลย์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน การส่งออกเดือน มิ.ย.57 ในภาพรวม สินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัว 3.9% โดยส่งออกสินค้าหลักกลับมาขยายตัวดีขึ้นหลังจากหดตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มยานพาหนะ และส่วนประกอบ กลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ ขยายตัว 9.6%, 9.2%, 3.4%, 3.4%, 3.3%, 3.2%, 2.5%, และ 0.8% ตามลำดับ

   ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.9 (YoY) จากการชะลอตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม เนื่องจากผ่านพ้นฤดูร้อนไปแล้ว การส่งออกเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบก็เริ่มชะลอตัวลง 3.4% จากการเร่งส่งออกในช่วงเทศกาลบอลโลกทำให้การส่งออกในแทบทุกตลาดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในตลาดเบลเยียม สิงคโปร์ และฮ่องกง เช่นเดียวกับการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่ชะลอตัวลง 3.4% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญลดลง ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

   แม้การนำเข้าในภาพรวมจะหดตัวสูง แต่การนำเข้าสินค้าอุปโภค/บริโภคขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย 1.1% โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก

   นางนันทวัลย์ กล่าวถึงทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังว่า จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรกซึ่งเป็นไปตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวได้ดีกว่าในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ส่งผลให้การส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวได้ดีขึ้นเช่นกัน ประกอบกับจากการสอบถามผู้ประกอบการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

   อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังเชื่อว่าการส่งออกทั้งปีจะเติบโตได้ 3.5% ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเชื่อว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือหากสามารถทำได้ที่มูลค่า 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ก็จะทำให้การส่งออกเป็นไปได้ตามเป้า

  อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ค่าเงินบาท ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าไปจนถึงจุดใด รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา น้ำตาล

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!