WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กระทรวงพาณิชย์ แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมรองรับการใช้เงินหยวน ในการค้าขาย-ลงทุน

     กระทรวงพาณิชย์ แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อม รองรับการใช้เงินหยวน  ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต โดยการศึกษาผลได้-ผลเสียของการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือก ในการทำธุรกรรมการค้าหรือการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

    นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยถึงนโยบายรัฐบาลจีนชุดใหม่ที่ต้องการผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินหลักของโลก (RMB Internationalization)ว่าจีนมีพัฒนาการในการปฏิรูปเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา จากเดิมที่มีการปฏิรูปแบบแยกส่วน ซึ่งภาครัฐมีบทบาทมากกว่ากลไกตลาด เป็นการปฏิรูปแบบรอบด้าน (Comprehensive Reform)ที่กลไกตลาดมีบทบาทมากขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาดสังคมนิยม (Socialist Market Economy)จีนยึดหลักการสำคัญ 2ประเด็น คือ  “การปฏิรูป”และ

     “นวัตกรรม”ที่จะทำให้บรรลุ “ความฝันของจีน (Chinese Dream)”โดยจีนตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นสังคมเสี่ยวคัง (อยู่ดีมีสุข)ที่ประชาชนจะกินดีอยู่ดีระดับปานกลางทั่วหน้าอย่างรอบด้าน ภายในปี พ.ศ.2563 และตั้งเป้าหมายว่า จะเป็นประเทศที่ทันสมัยเต็มรูปแบบ(ประเทศพัฒนาแล้ว)ภายในปี พ.ศ.2592

     ทั้งนี้ จีนมีปัจจัยความสำเร็จในการปฏิรูป อาทิ การเริ่มจากฐานต่ำและพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพและเด็ดขาดในการตัดสินใจ การเปิดรับเทคโนโลยี/เงินทุน/บุคลากรจากต่างประเทศ  รัฐบาลจีนชุดใหม่นี้ มีนโยบายส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ส่งเสริมธุรกิจบริการและการค้าออนไลน์ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาจีนตอนในและตะวันตก การเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน และการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน “สกุลเงินหยวนให้เป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต”

     เดือนมิถุนายน 2557 จีนได้ทำข้อตกลงการชำระเงินโดยตรงด้วยเงินหยวนหรือปอนด์ และตั้งธนาคารหักบัญชีเงินหยวนในประเทศอังกฤษ อีกทั้ง ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการซื้อขายพลังงานระหว่าง กาซปรอมผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียกับบริษัทพลังงานจีน โดยเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินหยวนและรูเบิลแทน จึงเป็นสัญญาณว่าสกุลเงินดอลลาร์กำลังถูกลดบทบาท และสกุลเงินหยวนจะมีบทบาทมากขึ้น

     เดือนกรกฎาคม 2557 จีนได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ 5 ชาติในกลุ่ม BRICS ร่วมจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่ขึ้นมา 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนา (NDB: New Development Bank) และกองทุนสำรองฉุกเฉินเพื่อใช้ในวิกฤติ(CRA:Contingent Reserve Arrangement) นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ 22 ประเทศเอเชีย (อาทิ อาเซียน 10 ประเทศ จีน เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี ปากีสถาน ศรีลังกา) จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB: Asian Infrastructure Investment Bank) ซึ่งสะท้อนว่าจีน กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน พร้อมแล้วในการก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีเศรษฐกิจการค้าในโลกยุคใหม่มากขึ้น ประการสำคัญ กลไกธนาคารและกองทุนดังกล่าว จะส่งผลดีในการขยายการใช้เงินหยวนและผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต

      นางอัมพวัน กล่าวว่าปัจจุบันสกุลเงินหยวนได้รับความนิยมในโลกมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 35 ในปี 2553 เป็นอันดับ 13 ในปี 2556 และเป็นอันดับที่ 7 ในปัจจุบัน (เม.ย. 2557) โดยมีส่วนแบ่งในตลาดเงินโลกร้อยละ 1.43 รองลงมาจากดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละ 42.5) ยูโร (ร้อยละ 31) ปอนด์ (ร้อยละ 8.6) เยน (ร้อยละ 2.4) ดอลลาร์แคนาดา (ร้อยละ 1.8)และดอลลาร์ออสเตรเลีย (ร้อยละ 1.7) ตามลำดับ

     HSBC ธนาคารชั้นนำของโลก ชี้ว่าเงินหยวนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปีหน้า (2558) เงินหยวนจะติด 1 ใน 3 สกุลเงินหลัก (ปัจจุบันอันดับ 7) และตลาดเกิดใหม่จะใช้เงินหยวนในการค้ากับจีนร้อยละ 50 (ปัจจุบันร้อยละ 18) รวมทั้ง ภายใน 5 ปี (2562) เงินหยวนจะมีบทบาทมากถึงร้อยละ 30 ของการค้าจีน (ปัจจุบัน  ร้อยละ 17)

    นอกจากนี้ คาดว่าใน 15 ปี (2573) การค้าของภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ของโลก (ปัจจุบันร้อยละ 30) ซึ่งครึ่งหนึ่งจะเป็นการค้าภายในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายการใช้เงินหยวน เนื่องจากเงินหยวนจะมีบทบาทในการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชียและตลาดเกิดใหม่มากขึ้นอย่างยิ่ง

     อย่างไรก็ตาม จีนจะต้องทำให้เงินหยวนมีความพร้อมใช้สำหรับการค้า การลงทุน และเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศได้ด้วย กล่าวคือ เงินหยวนต้องมีคุณสมบัติ ประกอบด้วย เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน สามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนได้ ใช้ในประเทศอื่นนอกเหนือประเทศจีน มีความคล่องตัวในการแปลงเป็นสกุลเงินอื่น และมีระบบการเงินที่พัฒนารองรับ ขณะนี้ แม้รัฐบาลจีนจะผลักดันให้การใช้เงินหยวนมีบทบาทในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เปิดให้ซื้อขายเงินตราเสรีเหมือนเงินสกุลเงินหลัก จึงยังมีสิ่งที่ทางการจีนต้องทำอีกมาก

   สำหรับ แนวทางการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่าผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมรองรับการใช้เงินหยวน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต โดยการศึกษาผลได้-ผลเสียของการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการทำธุรกรรมการค้าหรือการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ควรติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นโยบายจีน สภาพคล่องของเงินหยวน การให้บริการของสถาบันการเงิน ต้นทุนและความคุ้มค่า

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!