WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อาทิตย์เอกเขนก: โฮมช็อปปิ้งทีวีแรงขับเคลื่อน เศรษฐกิจเกาหลีใต้

    ไทยโพสต์ : ช่วงต้นเดือนธันวาคม 57 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. การเดินทางครั้งนี้มีผู้ร่วมคณะประมาณ 60 คน มีทั้งกรรมการ คณะทำงาน และสื่อมวลชน ซึ่งใช้เวลาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนทัศนะเป็นเวลา 5 วัน ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทที่ผลิตช่องรายการโฮมช็อปปิ้ง 2 ราย ที่เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่ขายสินค้าผ่านจอของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ด้วยพลังของดิจิตอล ซึ่งที่ผ่านมาเกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ และได้ชื่อว่าเป็นดาต้า เซ็นเตอร์ดีที่สุด ติดอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา และอันดับ 2 ญี่ปุ่น 30% ยอดส่งออกมาจากโฮมช็อปปิ้งทีวี

    เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ทำธุรกิจโฮมช็อปปิ้งทีวีเป็น อันดับ 1 ของโลก มีการขายสินค้าผ่านทั้งทีวี โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ซึ่งปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดถึง 400,000 ล้านบาท และมียอดส่งออกถึง 30% ของยอดขายสิน ค้าส่งออกทั้งหมดในประเทศ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีช่องทางในการสร้างรายได้อย่างมาก

      โฮมช็อปปิ้ง ทีวี หรือธุรกิจขายสินค้าผ่านโทรทัศน์ในเกาหลีใต้ มีผู้ประกอบการอยู่ทั้งสิ้น 6 ราย ได้แก่ จีเอส โฮมช็อปปิ้ง, ซีเจ โอช็อปปิ้ง, ล็อตเต้ โฮมช็อปปิ้ง, ฮุนได โฮมช็อปปิ้ง เน็ตเวิร์ก, เอ็นเอส โฮมช็อปปิ้ง และโฮมแอนด์ช็อปปิ้ง

      โดยรูปแบบที่รัฐบาลเกาหลีได้วางไว้สำหรับช่องทีวีสำหรับขายสินค้า มีการจำกัดผู้เล่นในตลาดอย่างชัดเจน การกำหนดให้มี 6 ราย ก็เพื่อป้องกันการกินกันเองและเพื่อการแข่งขันที่สามารถอยู่รอดได้ทุกช่อง อีกทั้งเพื่อเป็นการกำกับดูแลที่ทั่วถึง โดยกระทรวงวางแผนอนาคตของเกาหลีใต้เป็นผู้กำกับดูแลและให้ใบอนุญาต

      ใบอนุญาตสำหรับกิจการโทรทัศน์ของเกาหลีมี 2 รูปแบบ คือ ฟรีทีวี และเพลย์ทีวี โดยจัดให้มีการกำหนดเวลาโฆษณาที่แตกต่างกัน

    สำหรับฟรีทีวี สามารถโฆษณาได้ 10 นาที ส่วนเพลย์ทีวี โฆษณาได้ 12 นาที ส่วนในช่องโฮมช็อปปิ้ง จัดเป็นการให้ใบอนุญาตในลักษณะพิเศษเฉพาะเป็นช่องรายการที่ทำเพื่อการพาณิชย์และธุรกิจ ใบอนุญาตมีอายุ 6 ปี ซึ่งในปีที่ 5 ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องยื่นรายละเอียดเข้ามาให้กระทรวงพิจารณาก่อนหมดสัญญาเป็นเวลา 1 ปี โดยกระทรวงจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการช่องโฮมช็อปปิ้ง ที่จะต้องมีระบบการชำระเงินที่มีมาตรฐาน ระบบการขนส่ง และคุณภาพของสินค้า

จีเอส โฮมช็อปปิ้ง

      สำหรับ ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีในธุรกิจนี้มี 2 ราย คือ จีเอส โฮมช็อปปิ้ง และซีเจ โอช็อปปิ้ง โดยเริ่มดำเนินธุรกิจพร้อมกันในปี 2538 หรือเมื่อ 18 ปีก่อน โดยจีเอส โฮมช็อปปิ้ง (GS Home Shopping) เป็นบริษัทในเครือของแอลจี ที่เดิมทำธุรกิจเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน มีธุรกิจปั๊มน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีร้านสะดวกซื้อ จีเอส 25 และจีเอส ซูเปอร์มาร์เก็ต วัตสันกระจายอยู่ทั่วกรุงโซล

       การผลิตรายการของจีเอสเน้นที่รายการสด โดยออกอากาศสดวันละ 20 ชั่วโมง ที่เหลือ 4 ชั่วโมงเป็นเทป การขายสินค้าผ่านหน้าจอโทรทัศน์ของเกาหลีนิยมรายการสด เพราะรูปแบบที่ผลิตคือการทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในรายการ มียอดคนดูผ่านทางทีวีดาวเทียมถึง 4 ล้านครัวเรือน มียอดการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบนมือถือ 19 ล้านดาวน์โหลด และมี 3 ล้านคนต่อวันที่เข้าชมผ่านสมาร์ทโฟน

     โดยจีเอส โฮมช็อปปิ้ง มียอดการโทร.เข้ามาที่คอลเซ็นเตอร์ 130,000 ครั้งต่อวัน แบ่งเป็นการสั่งสินค้าผ่านระบบอัตโนมัติ 60% การสั่งสินค้าผ่านพนักงานรับโทรศัพท์ 20% ที่เหลือเป็นการโทร.เข้ามาแจ้งปัญหา ร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้า โดยในจำนวนนี้มียอดสั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์ 16,000 ครั้งต่อวัน

      ส่วนสินค้าที่ขายผ่านทีวีมี 20 ชนิดต่อวัน ซึ่งสินค้าที่ขายดีที่สุดในช่วงหน้าหนาวคือ เสื้อกันหนาว รองเท้า และผ้าห่ม ขณะที่เสื้อผ้าก็เป็นสินค้าที่มียอดการคืนสินค้ามากที่สุดเช่นกัน คิดเป็นอัตราการคืนถึง 50% เพราะขนาดไม่ตรงกับรูปร่าง ซึ่งหากลูกค้าไม่พอใจสินค้า บริษัทจะคืนเงินให้ทันที

    ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรส่วนต่างจากสินค้าแต่ละชิ้นประมาณ 5% ซึ่งมีรายได้รวมเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเติบโตขึ้นอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท และมีลูกค้าในปี 2555 อยู่ที่ 10 ล้านราย

     จีเอส โฮมช็อปปิ้ง วางระบบคลังสินค้าและจัดส่งอย่างเป็นระเบียบ โดยคลังสินค้าขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองอินชอน เป็นคลังสินค้าจากคู่ค้าต่างๆ และการนำส่งถึงบ้านผู้ซื้อ มีการจัดสินค้าลงกล่อง คัดแยกก่อนส่งไปแต่ละพื้นที่ตามคำสั่งซื้อ

    ปัจจุบันจีเอส โฮมช็อปปิ้ง ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับทรูวิชั่นส์ เดอะมอลล์กรุ๊ป และซีพีออลล์ ทำธุรกิจในประเทศไทยภายใต้บริษัท ทรู จีเอส จำกัด โดยขายสินค้าผ่านช่องทรู ซีเล็คท์

ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง

     ส่วนซีเจ โอ ช็อปปิ้ง (CJ O Shopping) เป็นบริษัทในเครือซีเจ กรุ๊ป ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจอาหารและบริการด้านอาหาร ธุรกิจยาและเทคโนโลยีชีวภาพ, ธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง และขนส่งครบวงจร และธุรกิจสื่อและบันเทิงครบวงจร

      ซีเจ เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากซัมซุง นอกจากทำตลาดในเกาหลีใต้แล้ว ยังมีสาขาในต่างประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และตุรกี เป็นบริษัทที่มียอดขายเป็นอันดับ 6 ของสินค้าทั้งหมดในประเทศ

      ทั้งนี้ ซีเจ โฮมช็อปปิ้ง ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายเพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์การใช้งานของลูกค้าด้วย อาทิ แอพพลิเคชั่นแสดงคลิปขนาดสั้นของรายการแนะนำสินค้า, แอพพลิเคชั่นที่ช่วยแนะนำการแต่งหน้า, แอพพลิเคชั่นแสดงรายการสินค้าและการสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น

     สำหรับ รายได้ของซีเจอยู่ที่ประมาณ 49,500 ล้านบาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งซื้อสินค้าหลังจากรับชมผ่านทางทีวีมากกว่าการเข้าไปเลือกสินค้าผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือ หรือผ่านทางเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต เพราะใน 1 ชั่วโมง ผู้ดำเนินรายการสามารถอธิบายและขายสินค้าได้ 1-2 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าที่ขายดีจะเป็นกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า โดยเฉลี่ยแล้วจะมีสินค้าจำนวน 2,000,000 ชิ้นต่อเดือน ที่นำออกมาเสนอขาย และมีลูกค้าสั่งซื้อ 1,500,000 ชิ้นต่อเดือน

     ปัจจุบัน ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ชื่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง จำกัด นำเสนอรายการผ่านทีวีดาวเทียมใช้ชื่อรายการว่า โอ ช็อปปิ้ง (O Shopping)

กสทช.เล็งจัดระบบโฮมช็อปปิ้งทีวีไทย

     พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า แนวทางในการออกใบอนุญาตภายใต้หลักเกณฑ์การให้บริการโทรทัศน์แบบประยุกต์ให้กับธุรกิจขาย

     สินค้าผ่านโทรทัศน์ หรือโฮมช็อปปิ้งทีวี นั้น ต้องศึกษารูปแบบจากหลายประเทศที่ทำธุรกิจด้านนี้จนประสบความสำเร็จ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของประเทศไทย

     หาก กสทช.สามารถส่งเสริมให้โฮมช็อปปิ้งทีวีเกิดขึ้นอย่างมีระบบ ภายใต้กฎกติกาที่วางไว้ เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่น จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่สำคัญในการสานต่อไปยังนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ของรัฐบาล โดยไทยมีทีวีดิจิตอลอยู่หลายช่อง ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีช่องทางเพิ่มขึ้นในการขายสินค้า

   "จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกระทรวงไอซีทีเพื่อพัฒนาประเทศเกาหลีใต้ ได้รับทราบข้อมูลว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่ต้องมีการประมูลใบอนุญาต แต่เป็นการให้ใบอนุญาตโดยรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 ราย และกำลังจะให้ใบอนุญาตเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งรูปแบบการให้ใบอนุญาตของประเทศเกาหลีใต้นั้น ช่องโฮมช็อปปิ้งถูกจัดให้อยู่ระหว่างฟรีทีวี และเก็บค่าธรรมเนียมจากกำไรของบริษัท"

    หากย้อนกลับมาดูกฎกติกาที่ประเทศไทยได้วางไว้ ซึ่งเข้าข่ายใบอนุญาตภายใต้หลักเกณฑ์การให้บริการโทรทัศน์แบบประยุกต์นั้น พบว่ามีความแตกต่างกันมาก เพราะประเทศไทยมีการคิดค่าธรรมเนียมจากยอดขาย ไม่ใช่คิดค่าธรรมเนียมจากกำไรบริษัท ดังนั้น กสทช.ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกค่าครั้งในการออกใบอนุญาตว่าจะคิดค่าธรรมเนียมรูปแบบใด และคงคิดค่าธรรมเนียมแบบทีวีดิจิตอลไม่ได้

   ส่วนรูปแบบการเผยแพร่อาจเป็นได้ทั้ง 2 แนวทาง คือ 1.การให้เป็นช่องทีวีแยกออกมาเลย มีรูปแบบเดียวกับเกาหลีใต้ โดยกำหนดให้เป็นช่องสำหรับให้ข้อมูลด้านสินค้า หรือ 2.การให้ ใบอนุญาตเพื่อเป็นรายการหนึ่งในช่องทีวี ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับประเทศญี่ปุ่นก็เป็นได้

    "ส่วนเรื่องจะประมูลหรือไม่นั้นก็ยังตอบไม่ได้ เพราะประเทศไทยต่างจากเกาหลีใต้ เพราะไทยไม่ยอมรับวิธีการบิวตี้ คอนเทสต์ หรือให้ใบอนุญาตโดยไม่มีการประมูล คนไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใส คิดว่าต้องมีการฮั้วกัน อีกปัญหาคือ เราจะจำกัดจำนวนผู้ประกอบการเหมือนอย่างเกาหลีได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้มีมากจนเกินไป จนธุรกิจพัง เพราะกฎหมายของไทยคือต้องทำให้

    เกิดความเป็นธรรมอย่างเสรี ซึ่งเรื่องนี้ กสทช.ต้องศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วนและนำข้อมูลจากหลายๆ ประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับโมเดลการให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุด"พ.อ.นทีกล่าว

โฮมช็อปปิ้งไทยต้องมีใบอนุญาต

    นายทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมช็อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งใน ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และคาดว่าปีหน้าจะมีมูลค่าตลาดเติบโตขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยต้องมีใบอนุญาตสำหรับการทำธุรกิจโฮมช็อปปิ้งทีวี เพื่อช่วยกลั่น

   กรองธุรกิจที่ดีและไม่ดีออกจากกัน เพราะปัจจุบันมีสินค้าจำนวนไม่น้อยที่หลอกลวงประชาชน ทำให้คนไม่กล้าซื้อของผ่านช่องทางนี้

   ดังนั้น หาก กสทช.สนับสนุนให้มีใบอนุญาตไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีช่องทางในการขายสินค้ามากขึ้นสำหรับสมาคมทีวีโฮมช็อปปิ้ง (ประเทศไทย) หรือใช้ชื่อย่อว่า THA ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิอันชอบธรรมจากการใช้บริการโฮมช็อปปิ้ง ยกระดับการประกอบการธุรกิจโฮมช็อปปิ้งไทยให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการโฮมช็อปปิ้งและผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ เป็นศูนย์กลางข้อมูล ให้คำปรึกษา คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง

     เบื้องต้นมีสมาชิกสมาคม 5 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ช่องทรู ซีเล็คท์ 2.บริษัท จีเอ็ม เอ็ม ซีเจ โอ ช็อปปิ้ง จำกัด ช่องโอช็อปปิ้ง 3.บริษัท ช็อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ช่องช็อป ชาแนล 4.บริษัท ทีวีดี ช็อปปิ้ง จำกัด ช่องทีวีดี ช็อป และ 5.บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)

     สำหรับ การเดินทางเพื่อศึกษาดูงานครั้งนี้ เห็นพลังขับเคลื่อนในธุรกิจโทรทัศน์ที่ส่งแรงหนุนไปยังภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าหากประเทศไทยมีการจัดระเบียบการขายสินค้าผ่านรายการโทรทัศน์อย่างมีประสิทธิภาพ มีการออกกฎกติกาที่เหมาะสม โฮมช็อปปิ้งในไทยจะเป็นอีกแรงหนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของชาติเติบโต.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!