- Details
- Category: ไฟฟ้า ลม โซลาร์
- Published: Friday, 26 April 2024 17:10
- Hits: 12430
ถกไอเดียโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เน้นเป็นธรรมทุกภาคส่วน
รัฐ-เอกชน ตั้งวงเสวนา ถกโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ เน้นเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน สนพ.ระบุโลกเปลี่ยน ปรับทิศชี้วัดใหม่ จับเกณฑ์ไฟฟ้าดับไม่เกิน 17 ชม.ต่อปีเป็นฐานคิดไฟฟ้ามั่นคง ด้านเอกชนเสนอรัฐเลิกระบบเอฟที หันส่งเสริมทางเลือกผู้ประกอบการดันใช้เทคโนโลยีใหม่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ลดต้นทุน
หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน จัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร ณ Synergy Hall ชั้น 6 , Energy Complex อาคาร C โดยมีนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘นโยบายด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ’
นอกจากนี้ ยังวิทยากรร่วมเสวนาหัวข้อ ‘ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร’ ประกอบด้วย นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ,ดร.ชนะภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ,นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพยากรณ์ และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นต่อไป
สำหรับ แนวทางหลักในการจัดทำแผน PDP 2024 จะมุ่งเน้น 3 ส่วนคือ 1.เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามา ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน 2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งมีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันประชาชนต้องไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขัน และการบริหารจัดการ เพื่อนำการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource : DER) มาใช้ให้เกิดประโยชน์
3.จำกัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิตและการใช้ และนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่
ทางด้านการชี้วัดความมั่นคงของแผน ใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมงจาก 8,760 ชั่วโมงจากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ส่วนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนใหม่ ปลายแผน หรือ พ.ศ.2580 ต้องมีสัดส่วนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้า ( Demand response ) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) โดยใช้ DER รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะ โดยมีการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นในอนาคต
ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณาในแผน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) มีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือก ส่วนเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเป็นทางเลือก อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage ) เทคโนโลยีแอมโมเนีย เป็นต้น ส่วนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือ 41.5 ล้านตันคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 ตามตัวเลขของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ทั้งนี้ ความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ต้นทุนยังสูง และเราไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอดเวลาจำเป็นต้องมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อทำให้ระบบมีความมั่นคง เนื่องจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าที่เราติดตามมาตลอดพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วง 2 ปีมาอยู่ในเวลากลางคืน ยกตัวอย่างในระหว่าง 22-24 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาเกิดหลัง 3 ทุ่ม ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ไม่สามารถรองรับได้
ในช่วงการเสวนาหัวข้อ ‘ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร’นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ.ระบุว่า ความเป็นธรรมประกอบด้วย 3 ส่วนที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.อัตราค่าบริการและความเสี่ยง 2.ความมั่นคงและคุณภาพ และ3.นโยบายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงอยู่ภายใต้นโยบายและแผน
เพราะโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า ไม่สามารถมาปรับได้ภายในเวลา 1-2 วัน ต้องยอมรับว่าค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะ LNG นำเข้าที่มีความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะราคาที่เหมาะสมเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึงมีเรื่องคุณภาพเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆมารองรับ เช่น สถานีกักเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ (LNG Terminal) กกพ.ในฐานะกำกับดูแลเราดูอัตราผลตอบแทนอย่างเหมาะสมในทุกๆจุด
ทั้งนี้ องค์ประกอบของโรงไฟฟ้ายังไม่ได้มีเฉพาะโรงไฟฟ้าที่พร้อมเดินเครื่องเท่านั้น แต่ยังมีโรงไฟฟ้ารองรับกรณีฉุกเฉินด้วย เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกง ราชบุรี และกระบี่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และระบบของเราก็เป็นไฟฟ้าราคาเดียวกันทั้งประเทศที่ต้องมีการเกลี่ยต้นทุนกันของ 3 การไฟฟ้า
สำหรับ ระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศต่างมีแนวนโยบายที่จะดูแลคนกลุ่มไหนแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเวียดนามมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วนสูง แต่ก็มีไฟฟ้าตกดับบ่อย มีการอุดหนุนค่าไฟให้กับกิจการขนาดใหญ่ แต่ก็ปล่อยราคาสะท้อนต้นทุนกับกิจการขนาดกลาง เป็นต้น ส่วนสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีทรัพยากรไม่มากนัก ก็ใช้ระบบเปิดเสรีราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นต้น
ทางด้านนายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระบุว่า การผลิตไฟฟ้ามีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรวจสอบและกำกับดูแลในทุกขั้นตอน ทั้งก่อนเดินเครื่อง ระหว่างเดินเครื่อง และหลังเดินเครื่องแล้วทุกขั้นตอนกฟผ.ต้องรายงานต่อกกพ.รวมถึงศูนย์ควบคุมระบบส่งและจำหน่าย รวมถึงมีการแยกแยะบัญชีโรงไฟฟ้าตามใบอนุญาตที่กกพ.ออกให้
สำหรับ แนวทางที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนนั้น เบื้องต้นต้องเคลียร์ต้นทุนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาการอุดหนุน และเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ภาระไปตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชน อย่างไรก็ตามบริบทของสังคมเปลี่ยนไป ทั้งนี้มีข้อเสนอว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Time of Use Tariff :TOU) เพื่อกระจายช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำกันมานานนับสิบปี ก็ควรจะปรับเปลี่ยนด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็เปลี่ยนไป
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้านั้น ซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้มากขึ้น แต่ก็ถือว่าราคา LNG ค่อนข้างมีเสถียรภาพยกเว้นในช่วงเกิดสงครามรัสเซียยูเครนที่ทำให้ราคากระโดดขึ้นไปมาก ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเราจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซฯในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยปตท.มีสถานะเป็นผู้นำเข้ารายหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกกพ. ยังมีผู้นำเข้าอีกหลายราย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การผลิตไฟฟ้ามีการลงทุนสูง ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของไฟฟ้าด้วย ซึ่งไทยมีการพัฒนาระบบไฟฟ้ามาไกล จนเราไม่สามารถยอมรับให้มีไฟฟ้าตกดับได้ แต่การผลิตไฟฟ้านับวันก็มีความท้าทายมากขึ้นตามลำดับ เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และAI ที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโตอีกเป็นเท่าตัว
หัวใจสำคัญ คือการผสมผสานที่สมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีกับระบบการกำกับดูแล ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ต้องพิจารณาในเรื่องราคาที่ต้องสะท้อนต้นทุนเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประเทศในระยะยาว รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญคือการสื่อสารกับประชาชน
ดร.ชนะ ภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ย้ำว่าไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ และไฟฟ้าตกดับเพียง 1 นาทีกระทบเป็นเงินถึง 5 แสนบาทต่อครั้ง ปัจจุบันโรงงานปูนซิเมนต์ที่สระบุรีจึงนำเทคโนโลยีผลิตพลังงานใช้เองมาใช้มากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าของเราลดลง เหลือซื้อจากระบบของการไฟฟ้า 12,000-13,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาทที่เหลือ 40% ผลิตใช้เอง ซึ่งเราพร้อมเป็นโมเดลให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้
อย่างไรก็ตาม เสนอว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ดังนั้นนโยบายต้องปรับให้ทัน ยกตัวอย่างค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่ปรับทุก 4 เดือนเห็นควรให้ยกเลิก และหันมาสนับสนุนการกักเก็บพลังงาน ( Energy Storage) ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโหลดของผู้ใช้ รวมถึงสร้างทางเลือกการซื้อขายไฟฟ้าได้หลายแหล่งและหลากหลาย
ทางด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นจำเลยสังคมาโดยตลอด เพราะการสนับสนุนในช่วงแรกจากระบบการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าทำให้ต้นทุนของระบบสูง แต่หากรัฐไม่อุดหนุน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไทยก็ไม่สามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่ต้องการเสนอเพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบลดลง คือ การกันงบประมาณแยกต่างหากสำหรับสวัสดิการที่ให้กับประชาชน เช่น ไฟฟ้าสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
Click Donate Support Web