WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-96 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 96-102 เหรียญฯ

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15 – 19 ก.ย. 57)

     ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดในแถบทะเลเหนือและแอฟริกา และติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ที่อาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ขณะที่หลายฝ่ายยังแคลงใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีความแข็งแกร่งเพียงใด รวมถึงความกังวลของตลาดต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่อาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจของยูโรโซนได้ อย่างไรก็ตามด้านความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย หลังจากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนตะวันออกแล้ว อาจส่งผลให้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกคลี่คลายลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

    จับตากลุ่ม OPEC ว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบจำนวนมากในตลาด ขณะที่ลิเบียก็สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศยังครุกรุ่นอยู่ก็ตาม ล่าสุดกำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 800,000 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่ากำลังการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.นี้

     นอกจากนี้แหล่งน้ำมันดิบ Buzzard บริเวณทะเลเหนือ ซึ่งมีกำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ได้กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากปิดซ่อมบำรุงเมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

    จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ซึ่งตลาดมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดในปีหน้า หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดปริวรรตเงินตรามากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

     จับตาผลของการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบียังไม่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจของยูโรโซนได้ ซึ่งจะส่งผลกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อีซีบีมีแผนจะเริ่มใช้มาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) โดยการซื้อหนี้ภาคเอกชน ในเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งอาจเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนได้

    สถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย ยังคงส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน แม้ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนตะวันออกเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ยังคงรุนแรงและมีความเปราะบางอยู่มาก ขณะที่หลายฝ่ายยังเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดและมองว่าอาจต้องใช้เวลานานสำหรับสันติภาพที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ล่าสุดสหภาพยุโรปได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียครั้งใหม่เพิ่มเติมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลว่าการคว่ำบาตรจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงด้วย

    ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตรัฐนิวยอร์ค ยอดขายร้านค้าสาขา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต – ผู้บริโภคสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อยุโรป

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 – 12 ก.ย. 57)

    ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 92.27 เหรียญฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลง 3.71 เหรียญฯ ปิดที่ 97.11 เหรียญฯ ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงเช่นกันมาเฉลี่ยที่ระดับ 97 เหรียญฯ

    ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยราคาได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาดและอุปสงค์การใช้น้ำมันของโลกที่ยังคงเบาบาง โดยกำลังการผลิตและการส่งออกของโอเปคในเดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 30.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันในปี 57 ของสำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ จากระดับ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน และตัวเลขดุลการค้าจีนเดือน ส.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ยังคงส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!