WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กระจกไร้เงา: ผ่าแผนพีดีพีใหม่โรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่งหรือร่วง

                        ไทยโพสต์ : บุญช่วย  ค้ายาดี

    ต้องยอมรับว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในด้านการจัดหาพลังงานไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงของประเทศ  ต้องวางรากฐานการใช้พลังงานอย่าง มั่นคง และลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงจึงไม่ควร ไปพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากเกินไป ควรจะกระจายแหล่งเชื้อเพลิงไปยังถ่านหิน พลังงานทดแทน หรือแม้แต่ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

    ดังนั้น การจัดทำแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี ฉบับล่าสุด จึงได้กระจายการใช้เชื้อเพลิงออกไปอย่างหลากหลายชนิด เพื่อลดความเสี่ยง โดยเบื้องต้นจะลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติลงจาก 65% ให้เหลือประมาณ 30% ถ่านหินจะเพิ่มเป็น 30% พลังงานทดแทนเป็น 20% การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 15% และนิวเคลียร์อีก 5%

    หากพิจารณาผิวเผินเหมือนเป็นแนวทางที่ดีในการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง แต่หากพิจารณาถึงเชื้อเพลิงแต่ละประเภทจะพบว่ามีปัญหาที่แตกต่างกันไป

    เริ่มจากถ่านหิน ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 15% และจะเพิ่มเป็น 30% ตามแผนพีดีพีที่กำลังปรับปรุงใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงแผนพีดีพีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4 แห่ง แห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ รวม 4,000 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด แต่เวลาผ่านมากว่า 10 ปี กฟผ.ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ได้แม้แต่แห่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทุกแห่งถูกชาวบ้าน เอ็นจีโอ และนักวิชาการต่อต้านอย่างหนัก หรือแม้แต่ที่ อ.เทพา จ.สงขลา อีก 2 แห่ง ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างได้

     ดังนั้น แผนพีดีพีที่ฉบับใหม่จะเพิ่มสัดส่วนถ่านหินเป็น 30% นั้น โดยให้ กฟผ.ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 4,400 เมกะวัตต์ ยังคงทำได้จริงหรือ

     ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่จะเพิ่มเป็น 15% จะเป็นสถานการณ์เดียวกับการที่ประเทศไทยต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ แหล่งเยตากุน จากประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ท่อก๊าซเกิดอุบัติเหตุ ต้องหยุดซ่อมกะทันหัน หรือหยุดซ่อมประจำปีก็ตาม ก็มักจะทำให้เกิดความปั่นป่วนในประเทศทุกครั้ง ต้องมาจัดเตรียมแหล่งเชื้อเพลิงสำรองในการผลิตกระแสไฟฟ้า และก็จะมีความหวาดหวั่นกันทุกปีไปว่าจะต้องเกิดไฟฟ้าดับ

     ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือการหยุดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ก็คงร้อนๆ หนาวๆ กันแล้วว่า ไฟฟ้าดับหรือไม่ หรือมองในแง่เศรษฐศาสตร์ ซึ่งคุ้มแล้วหรือที่จะให้นักลงทุนไทยไปลงทุนพลังงานซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ประเทศไทยหวังเพียงแค่ซื้อไฟฟ้ากลับมาในราคาถูกแค่นั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในบ้านเราเลย

     สำหรับ พลังงานทดแทนที่หวังว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% ก็แทบเป็นไปไม่ได้ จะเป็นได้เพียงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เป็นต้นแบบไว้ให้เรียนรู้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าพลังงานทดแทนเหล่านี้มีต้นทุนสูง ในแต่ละปีภาครัฐต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก แม้แต่ประเทศเยอรมนี ประเทศต้นแบบด้านพลังงานทดแทนที่เหล่าเอ็นจีโอมักใช้เป็นประเทศอ้างอิง ก็ต้องเลิกนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกเหล่านี้แล้ว เพราะแบกรับภาระอุดหนุนต่อไปไม่ไหว

    ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5% นั้น ไม่ต้องคิดเลย ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อย่างไร กฟผ.คิดดำเนินการเมื่อใด ม็อบก็มีเมื่อนั้น

    ทางด้านก๊าซธรรมชาติ ที่กระทรวงพลังงานหวังลดสัดส่วนลงให้เหลือ 30% ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้การขนส่งก๊าซแอลเอ็นจีจากแหล่งเชลล์แก๊สทั่วโลกไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว การขนส่งก๊าซแอลเอ็นจีสามารถขนส่งได้เหมือนกับการขนส่งน้ำมันดิบทุกประการ ก๊าซแอลเอ็นจีจึงเป็นยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสำคัญในอนาคตที่ทุกประเทศทั่วโลกเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม ทิศทางพลังงานในประเทศไทยในอนาคตเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลทุกชุดต้องคำนึงถึง จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางของพลังงานโลก และโดยภาพรวมแล้ว จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับความมั่นคงของประเทศ

   การกำหนดยุทธศาสตร์ต้องให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานในต่างประเทศ ก็ต้องคำนึงถึงแหล่งเชื้อเพลิงที่จะรองรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แน่นอนถ่านหินยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำคัญ แต่จากปัญหาการต่อต้านของชาวบ้าน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ ก็ยังคงมีต่อเนื่อง

     ดังนั้น รัฐบาลหรือ กฟผ.ควรที่จะหันกลับไปทบทวนตัวเองว่า เพราะอะไร ภาคประชาชนจึงไม่ยอมรับที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่จะทำโครงการถึงลงพื้นที่ทำความเข้าใจ มันเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครเชื่อแน่นอน และที่สำคัญหากใช้ถ่านหินไม่ได้ กฟผ.มีแผนที่จะใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นทดแทนหรือไม่ และถ้ามีเชื้อเพลิงทดแทนแล้วมันคืออะไร มีความเหมาะสมหรือไม่.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!