WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 13-17 ตค.57 และสรุปสถานการณ์ฯ 6-10 ตค.57

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 ต.ค. 57)

  ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนโดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศจีดีพีไตรมาส 2/57 ของยุโรป ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มอ่อนแอ ประกอบกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อ อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนให้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันของจีนลดน้อยลงไปด้วย ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดล้วนส่งผลกดดันราคา

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

   จีดีพีไตรมาส 2/57 ของยุโรป ที่จะประกาศเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มอ่อนแอลง หลังจากการประกาศจีดีพีไตรมาส 2/57 ครั้งที่ 2 ซึ่งต่ำกว่าคาด โดยขยายตัวได้เพียง 0.2% เท่านั้น สัญญาณสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่อ่อนแอคือ ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนีที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเริ่มอ่อนแอลง ประกอบกับ IMF ได้ประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลง โดยระบุว่าการฟื้นตัวที่อ่อนแอของยูโรโซน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

   หลายฝ่ายกำลังจับตาสถานการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกงอย่างใกล้ชิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกงและจีนโดยตรง ล่าสุดมีรายงานว่าผลกระทบนั้นร้ายแรงกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์ส และอาจทำให้เศรษฐกิจจีนที่ซบเซาอยู่แล้วกลับแย่ลงกว่าเดิม ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันของจีนย่ำแย่ลงด้วย

   รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ต.ค. ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 14 ต.ค. ติดตามว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปีนี้ลงอีกหรือไม่ หลังหลายฝ่ายยังกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขยายตัวที่ลดลงของจีนและหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าสภาพอากาศในฤดูหนาวปีนี้จะอบอุ่นกว่าฤดูหนาวปีที่แล้ว ทำให้อุปสงค์น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (heating oil) อาจปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

   การประชุมติดตามความคืบหน้าของโครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. ที่กรุงเวียนนาว่าอิหร่านมีการปฏิบัติตามแผนมากน้อยเพียงใด ก่อนที่การขยายระยะเวลายกเลิกคว่ำบาตรชั่วคราวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 พ.ย. นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านต่อไป

   ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ ในเดือนนี้ ที่คาดว่าจะส่งผลให้กำลังผลิตขาดหายไปกว่า 720,000 บาร์เรลต่อวัน  โดยอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบลดน้อยลงและปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดีการปิดซ่อมบำรุงดังกล่าวอาจทำให้อุปทานน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง ซึ่งจะหนุนให้ราคาน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และอาจพยุงราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับลดลงมากนัก

   ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดขายปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จีดีพีไตรมาส2/57 ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต-ผู้บริโภคและดุลการค้าจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ต.ค. 57)

  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 85.82 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.1 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 90.21 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงเช่นกัน มาเฉลี่ยที่ระดับ 88 เหรียญสหรัฐฯ

  ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเป็นครั้งที่สามในปีนี้ของ IMF เนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซาของยุโรป ญี่ปุ่นและบราซิล โดย IMF ประกอบกับสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีนี้ลงจากคาดการณ์เดือนก่อนหน้า และอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศลิเบีย รวมไปถึงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!