WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หวั่นขยับพลังงานยกแผงต้นทุนพุ่งอุตฯเดี้ยง สอท.ขอดีเซลไม่เกิน 32 บ.ต่อลิตร

      แนวหน้า : 'ณรงค์ชัย'ประกาศเลื่อนปรับโครงสร้างราคาพลังงานไปหลังปีใหม่ ยืนยันขึ้นภาษีดีเซลไม่กระทบผู้ใช้ ด้านสอท.ระบุถ้าน้ำมันดีเซลไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ยังพอรับได้ ขืนแพงจัดต้นทุนพุ่งภาคอุตสาหกรรมไปไม่รอด ชี้รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนเอกชนจะได้วางแผนรับมือได้

    นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผย ภายหลังงานสัมมนาวิชาการ Energy Symposium 2014 เรื่อง'การปรับโครงสร้างภาคพลังงาน การจัดการร่วมรัฐเอกชน จุดเปลี่ยนสำคัญสู่ความยั่งยืน'จัดโดย สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ว่ากระทรวงเลื่อนแผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบไปจากเดือนธันวาคม ไปเป็นหลังช่วงปีใหม่ เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ จึงควรใช้โอกาสนี้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้ได้ระดับที่เหมาะสมก่อน

    โดยสถานะกองทุนล่าสุดเป็นบวกกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อให้การปรับภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซลไม่มีผลกระทบต่อกองทุนน้ำมัน โดยจะเปลี่ยนจากการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับดีเซลเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิตแทน จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 3.70 บาทต่อลิตร จากนั้นจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อให้ใกล้เคียงกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซินที่เรียกเก็บอยู่ 5.60 บาทต่อลิตร ดังนั้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเมื่อปรับภาษีแล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากจะปรับขึ้นจากปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

    ขณะที่การปรับราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีก็ต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน โดยเฉพาะแอลพีจีที่ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13 บาทต่อลิตร ถูกกว่าราคาน้ำมันเท่าตัว ทำให้มีรถยนต์ติดตั้งแอลพีจีถึง 1 ล้าน 2 แสนคันทั่วประเทศ จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างราคาเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่แท้จริง แต่เชื่อว่าแม้ปรับขึ้นราคาแล้วก็ยังคงถูกกว่าราคาขายน้ำมัน

    ทั้งนี้ ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องมีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าของประเทศจากพลังงานชนิดอื่น เพื่อลดการใช้ก๊าซที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบ 70% ในจำนวนนี้เป็นก๊าซที่มาจากการนำเข้าถึง 20% โดยโรงไฟฟ้าที่ต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้น คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่ยังคงถูกต่อต้านจากภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการ แต่หากไม่สามารถทำได้ก็จำเป็นต้องก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านแทน

   ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ทั่วโลกรวมถึงไทย ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างโรงเก็บก๊าซ ซึ่งอยู่ระหว่างหาพื้นที่ตั้งแห่งที่ 3 เพื่อรองรับปริมาณก๊าซ 5 ล้านตัน หากไม่สามารถหาได้ก็เตรียมที่จะก่อสร้างในประเทศพม่าแทน

   ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ ลม แสงอาทิตย์และขยะ รัฐบาลก็สนับสนุนเช่นกันโดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าลงทุน ซึ่งต้องมีการกำหนดกติกาการรับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม เนื่องจากเอกชนต้องการส่วนต่างราคาไฟฟ้าที่รัฐบาลรับซื้อในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของผู้ผลิตได้

   ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสอท.กล่าวว่าหากราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถยอมรับได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่งเล็กน้อย จึงอยากให้รัฐบาลวางแผนโครงสร้างพลังงานที่ชัดเจน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนลดการใช้พลังงานได้ โดยล่าสุด สอท. ได้จัดตั้งคณะกรรมการทิศทางพลังงานที่มี

   นายวีระศักดิ์ โฆษิตไพศาล ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม เป็นประธาน มีแนวทางดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ ศึกษาแนวโน้มการใช้พลังงานของไทยทุกภาคส่วน / ออกแบบมาตรการประหยัดพลังงานที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรม และคาดการณ์ราคาพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกำหนดระยะเวลาทำงานภายใน 1 เดือน ก่อนเสนอข้อมูลให้กระทรวงพลังงานเพื่อใช้ประกอบการปรับโครงสร้างพลังงานต่อไป

  นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติรอบใหม่ (เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2558 คาดว่าจะไม่ปรับลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ 69 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานจะอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วย แม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะลดลงมากในปัจจุบัน แต่ในส่วนของราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสัดส่วน 70% สำหรับผลิตไฟฟ้าของไทยยังต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากต้องอ้างอิงราคาย้อนหลัง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันดิบยังไม่ปรับลดลงมาก โดยค่าเอฟทีรอบใหม่ รัฐบาลไม่มีส่วนเข้ามากำหนดทิศทางเพราะการพิจารณาค่าไฟของ กกพ. ต้องดูจากต้นทุนของการผลิตเป็นหลัก

    อย่างไรก็ดี การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าทำให้คาดว่าในอนาคต 5 ปีข้างหน้าราคาค่าไฟฟ้าของไทยจะสูงกว่า5 บาทต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซจะปรับเพิ่มขึ้น 3 เท่า ประกอบกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ไม่แล้วเสร็จ เพราะหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เกิดขึ้นในปีนี้จะต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 6-7 ปี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!