- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 06 November 2024 19:09
- Hits: 1465
`พลังงานราคาถูก...ทางรอดเศรษฐกิจไทย`จี้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ภายใต้ MOU 44
ผู้เชี่ยวชาญพลังงาน จี้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ภายใต้ MOU 44 ชี้ก๊าซในอ่าวไทยวิกฤต ปริมาณการผลิตลดลงต่อเนื่อง ต้องนำเข้า LNG ในปริมาณที่มากขึ้น ราคาผันผวน ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ยันไม่เสียเกาะกูด ในงานสัมมนา`พลังงานราคาถูก.. ทางรอดเศรษฐกิจไทย` จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ได้รับเกียรติจากบรรดากูรูด้านพลังงาน มาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ และทิศทางนโยบาย เพื่อหาทางออกร่วมกันในการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ในราคาที่เป็นธรรมและมีเสถียรภาพ
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ในช่วงเปลี่ยนพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทย ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤติ ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง
แนวทางแก้ไขภาครัฐต้องเร่งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ บริหารจัดการแหล่งก๊าซฯในแปลงสัมปทานหมดอายุแต่ยังมีศักยภาพในอ่าวไทย รวมถึงการเร่งเจรจาหาข้อยุติในเขตไหล่ทวีปในทะเลที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) ที่เป็นความหวังทำให้ลดการนำเข้า LNG ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าลดลงได้ในอนาคต
ทั้งนี้ การใช้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MoU) ปี 2544 ในการเจรจาเขตพื้นที่ OCA มีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสถานการณ์พลังงานของไทยอยู่ในภาวะวิกฤตพลังงาน เพราะปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง หากสามารถพัฒนา OCA ขึ้นมาได้ คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซสำรองประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท สามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ได้อย่างมาก และยังช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมอยู่แล้ว
สำหรับ ขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา (TC-OCA) นั้นต้องเจรจากำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่ OCA ส่วนบน (เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ)เจรจากำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาร่วม : และวางหลักการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่อาจพบในพื้นที่ OCA ส่วนล่าง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลง JDA (Joint Development Area)
ส่วนเงื่อนไขสัมปทานปิโตรเลียม ต้องเจรจาเรื่องระบบและเงื่อนไขสัมปทานที่บริษัทผู้ประกอบการจะใช้สำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ขณะที่สิทธิประโยชน์ของบริษัทสัมปทาน ต้องเจรจาเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ของบริษัทผู้รับสัมปทานในพื้นที่ OCA ซึ่งเคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายตามกฎหมายเดิม
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ของสนพ.ยังไม่มีเรื่องการพัฒนาแหล่งก๊าซจากการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) เข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา
แต่เชื่อว่า หาก OCA มีความชัดเจนและดำเนินการเป็นรูปธรรม จะสอดคล้องกับแผนพลังงานชาติในระยะยาว ประเทศชาติได้ประโยชน์ เพราะก๊าซราคาจะไม่สูง ไม่ผันผวน หาก OCA มีความชัดเจน ยิ่งจะช่วยให้เรากำหนดแผนพลังงานในระยะยาวได้
ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดนั้น ก๊าซธรรมชาติยังถือว่ามีความสำคัญ แต่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยประมาณการว่าจะลดลง จึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งก๊าซที่ตอบโจทย์กว่าการนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งการพัฒนาแหล่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
นอกจากนี้ OCA ยังตอบโจทย์โจทย์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน และราคาแล้วยังสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผลบวกต่อประเทศไทย หากมองภาพสังคม สามารถสร้างทักษะ แรงงานที่มีฝีมือ และภาครัฐจะได้ภาษีจากการผลิตปิโตรเลียมด้วย
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ภาครัฐควรต้องไปเจรจาต่อ สำหรับการพัฒนาพื้นที่ OCA คือ การให้สิทธิสัมปทานบริษัทข้ามชาติตั้งแต่ 50 ปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่ทับซ้อนนั้นได้ให้สิทธิกับบริษัทพลังงานข้ามชาติแทบทั้งหมด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทไทยแห่งเดียวที่ได้สิทธิแปลงเล็กๆ หากเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย น่าจะให้ภาครัฐเจรจาบริษัทพลังงานข้ามชาติว่าจะให้สิทธิบริษัทพลังงานไทยได้หรือไม่ ในการไปร่วมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ยังมีความสำคัญ มีข้อดีในระหว่างที่พลังงานหมุนเวียนยังเติบโตไม่เต็มที่ โดยปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว LNG อยู่ที่ 480 ล้านตันต่อปี และคาดว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว LNG เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานสะอาดที่ช่วยเสริมการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนให้มีราคาสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติ จากประเทศเพื่อนบ้านได้ จะทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศและมีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น และมีราคาต้นทุนที่ถูกลงได้
ทั้งนี้ ประเด็นที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาจะมีการเจรจาพื้นที่ OCA และแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมภายใต้ MOU 44 นั้น มองว่าไทยมีพื้นที่ข้อได้เปรียบหลายเรื่องทั้ง โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และระบบท่อต่างๆ อีกทั้งมีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการผลิตท่อใหม่หรือการจ้างผลิตท่อ ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนในราคาต่ำสุด
"เมื่อพิจารณาเรื่องพลังงานไม่สามารถรู้ว่าในอนาคตจะได้แหล่งพลังงานธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งเราควรมีทางเลือกสำรอง หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เชื่อว่าการใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ยังคงเเป็นทางเลือกที่สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที" นายวุฒิกร กล่าว
อย่างไรก็ตามหากไทยได้แหล่งผลิตปิโตรเลียมมาถือเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานธรรมชาติเพิ่มขึ้น เมื่อแหล่งพลังงานถูกนำมาใช้จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า OCA มีโอกาสสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มียุคไหนที่บรรยากาศระหว่าง 2 ประเทศดีขนาดนี้ ท่อก๊าซของไทยก็พร้อม และก๊าซที่ OCA ก็ถูกกว่าการนำเข้าแน่นอน ซึ่งมองว่า เรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง ที่ผ่านมามีการสัมภาษณ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานและต่างประเทศ หลายคนบอกว่าควรเดินหน้า สัมปทานควรเป็นแบบโปร่งใส ทีมเจรจาต้องเป็นทีมต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทีมจะมาจากกระทรวงต่างประเทศ ทหารเรือ พลังงาน ก็ได้ขอให้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ เรื่องเกาะกูดไม่เกี่ยวกับ OCA ในสนธิสัญญาบอกไว้ชัดเจน เราควรเดินหน้าตามกรอบ MOU 44 แต่ถ้ารื้อมันไม่จบ รัฐบาลควรตั้งทีมเจรจาที่ได้รับการยอมรับ มีบารมี ทีมที่เป็นข้าราชการประจำซัพพอร์ท อยากได้ผู้นำที่มีบารมี การเจรจาควรเป็นความลับ แต่เมื่อมีความคืบหน้า ต้องมีทีมสื่อสารเป็น Focus Group เพื่อมารับฟังซึ่งกันและกัน มองว่าไทยบอบช้ำเพียงพอแล้ว ทั้งจากตัวเรา เศรษฐกิจประเทศ และเศรษฐกิจโลก
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการอิสระ ได้เปิดเผยผลการศึกษาปัญหาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ ทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชา : ข้อพิจารณาเรื่องเขตแดนทางทะเลและ การแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียมว่า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชานั้น มีข้อเสนอแนะว่า การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจปี 2544 ควรมีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อแบ่งเขตแดนทางทะเลและกำหนดข้อตกลงในการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน
โดยใช้แนวทางที่เป็นกลางและไม่ยึดติดกับแนวคิดแบบชาตินิยม การลดความตึงเครียดทางการเมือง ควรมีการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศจะได้รับจากการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อน
อีกทั้ง ควรนำแนวทางการพัฒนาร่วมระหว่างไทยและมาเลเซียเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางทะเล การนำแนวทางนี้มาใช้กับกัมพูชาจะช่วยให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นและสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน และการปรับปรุงกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ควรมีการพิจารณาและทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิในเขตแดนทางทะเล เพื่อให้การเจรจาเป็นไปตามกฎหมายสากลและเกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
++++++++++++++++++
รายงานการศึกษา ปัญหาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชา :
ข้อพิจารณาเรื่องเขตแดนทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม
โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี