WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บทความ : 'ปฎิรูปพลังงาน' …อีกบทพิสูจน์ที่ท้าทายของคสช.

   แนวหน้า : ปฏิเสธไม่ได้ว่าวินาทีนี้ ถนนทุกสายต่างโฟกัสไปที่กระแส 'ปฎิรูปพลังงาน'ที่กำลังอยู่ในมือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. )เพื่อลุ้นให้คสช.ทุบโต๊ะ หลังความพยายามของหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่ฉวยจังหวะจุดพลุและนำเสนอข้อมูลด้านพลังงานของประเทศให้ คสช.ได้พิจารณาจนถึงขั้นที่ว่าหากคสช.รื้อและปฏิรูปพลังงานสำเร็จจะสามารถคืนความสุขให้คนไทยได้ใช้พลังงานราคาถูก และราคาน้ำมันจะลดลงอย่างน้อยลิตรละ 10 บาทกันเลยทีเดียว

   ไล่มาตั้งแต่เครือข่ายปฎิรูปพลังงานเครือข่ายเอ็นจีโอที่จุดพลุเสนอให้คสช.รื้อระบบสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ยกระบิ โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นแหล่งพลังงาน มีปริมาณสำรองน้ำมันและแก๊สจำนวนมหาศาลพอ ๆ กับตะวันออกกลางถึงขั้นระบุว่า ประเทศไทยคือดินแดนซาอุแห่งเอเชียแต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้พัฒนาอย่างจริงจัง เพราะระบบผูกขาดโดยกลุ่มทุนการเมืองไม่กี่กลุ่ม และยังคงมีความพยายามจะประเคนสัมปทานขุดเจาะน้ำมันให้ต่างชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง

   ยังมีข้อเสนอของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินที่จุดพลุให้คสช.ยุบเลิกกองทุนน้ำมัน หรือปรับปรุงบทบาทอำนาจหน้าที่ของกองทุน ที่อ้างว่าถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนบิดเบือนโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบ

   ก่อนจะมาถึงบทสรุปที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้คสช.เข้ามาสังคายนาระบบสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ยกกระบิ โดยยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนหรือที่เรียกว่า ‘Thailand3’ที่เชื่อว่าประเทศชาติได้ผลประโยชน์น้อยนิด ไปสู่ระบบ แบ่งปันผลผลิตหรือ PSC’ ตามรอยเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนที่ล้วนใช้ระบบนี้ รวมถึงการพยายามหยิบยกราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ใช้ระบบ PSC มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าราคาน้ำมันถูกกว่าเราเป็นเท่าตัว

   งานนี้เล่นเอาประชาชนคนไทยที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อนถึงกับหูผึ่งตื่นตะลึงในข้อมูลที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน!

   ขณะที่ 'กลุ่มปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยื่น'ที่มี ดร.ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์อดีต รมต.พลังงานเป็นประธานก็นำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านให้ทุกฝ่ายได้ตระหนัก โดยหนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงานดังกล่าวคือนายบรรยง พงษ์พานิชประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเกียรตินาคิน และอดีตผู้บริหาร บงล.ภัทรได้สะท้อนข้อมูลอีกด้านตี ระบบสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตดี(Concession vs Production Sharing ContractsinหรือPSC)ตอบโต้เครือข่ายเอ็นจีโอ

   โดยนายบรรยงได้สะท้อนข้อมูลในอีกด้านว่า การที่เครือข่ายเอ็นจีโอระบุว่าประเทศเพื่อนบ้านล้วนใช้ระบบ PSC ขอให้ดูต่ออีกนิดว่าแล้วผลที่ได้เป็นอย่างไร? มาเลเซียที่ชอบหยิบยกมาอ้างกันว่าดีนักนั้น ก็มีคำถามเรื่องความโปร่งใสกับเรื่องการเอื้อประโยชน์ทางเชื้อชาติ(Bumiputra Favoritism)ส่วนอินโดนีเซียอีกประเทศที่ใช้ระบบ PSC ซึ่งเครือข่ายเอ็นจีโอเทิดทูนกันนักหนาว่าเป็นระบบที่ทำให้ประชาชนใช้พลังงานราคาถูกแสนถูกนั้น เมื่อกลางปีที่แล้วรัฐบาลอินโดนีเซียต้องใช้ยาแรงปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินจากลิตรละ 20 บาท ดีเซลลิตรละ 18 บาทไปถึง 15 และ 14 บาทต่อลิตร ทำให้เกิดประท้วงวุ่นวายไปครึ่งค่อนประเทศ

    “ถามว่า ที่เขาสามรารถขายน้ำมันราคาถูกได้เพราะความสำเร็จของระบบ PSC หรือไม่? คำตอบคือ เปล่าเลย แต่เป็นเพราะรัฐอุดหนุน(Subsidy)พลังงานอย่างมหาศาล ปีหนึ่งๆ เกิดการสูญเสียมหาศาล นี่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดตลอดมา ลองเข้าไปใน Google แล้วหา

    Fuel Subsidy in Indonesia ดู จะมีบทความเป็นร้อยและร้อยทั้งร้อยระบุว่า เป็นเรื่องสุดห่วย ถ่วงความเจริญทุกๆด้าน แต่ที่แย่กว่านั้น อินโดนีเซีย จากที่เคยเป็นประเทศในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC ที่เคยส่งออกน้ำมัน แต่จากนโยบายบิดเบือนกลไกราคาน้ำมันนี้ได้ทำให้สถานะของอินโดนีเซียจากที่เคยเป็นประเทศส่งออกน้ำมันวันละประมาณ 1,000,000 บาร์เรลในช่วงปีค.ศ. 1980s กลายสภาพมาเริ่มนำเข้า ในปี 2003 จนปัจจุบันต้องนำเข้าประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน  ต้องลาออกจาก OPEC มาหลายปีแล้ว ส่วนที่เคยขุดหาผลิตได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล ก็เหลือแค่วันละ 900,000 บาร์เรลเท่านั้น

แล้วไทยเราจะเจริญรอยตามเขาหรือไม่?

   กับข้อมูลที่ว่าไทยเป็นซาอุแห่งเอเซีย ดั่งข้อมูลที่เครือข่ายเอ็นจีโอ หรือกลุ่ม 40 สว.ในอดีตตีฆ้องร้องป่าวกันมาโดยตลอด จนทำเอาประชาชนคนไทยฝันเคลิ้ม เชียร์ให้ คสช.รีบขุดขึ้นมาใช้โดยไวนั้น บรรยงได้ตั้งข้อกังขาว่า หากเรามีปริมาณสำรองน้ำมันและแก๊สมากมายมหาศาลขนาดนั้นจริง จะเอาระบบสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต แบ่งอัตรากำไรหรือระบบอะไรก็คงไม่มีใครว่า แต่หากไม่มีอยู่จริง ...นั่นคือความเสี่ยงของประเทศที่กำลังจะเอาไปผูกติดกับข้อมูลที่ ไม่มีอยู่จริง

    แต่ไม่ว่า จะอย่างไรผู้ลบริหารธนาคารเกียรตินาคิดที่ถือเป็นกูรูด้านเศรษฐศาสตร์และพลังงานระบุว่ายังมีเรื่องสำคัญที่รัฐบาล คสช.ต้องเร่งตัดสินใจยิ่งกว่าเพราะในปี 2565 และ2566 สัญญาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมตามพ.ร.บ.ปี 2514 กำลังจะหมดลง หากรัฐและกระทรวงพลังงานไม่เตรียมการจัดหาพลังงานสำรองเพิ่มตั้งแต่วันนี้

    กว่าจะรู้ตัวว่า เรากำลังเผชิญวิกฤติพลังงานอาจไม่ทันการแล้ว อย่าได้คิดว่าอีกตั้งเกือบ 10 ปี ยังมีเวลา เพราะธุรกิจผลิตปิโตรเลียม ไม่เหมือนการลงทุนด้านอื่น เพราะต้องลงทุนเพิ่มในการขุดเจาะอยู่เสมอ ยิ่งแหล่งน้ำมันในบ้านเราเป็นแหล่งเล็กๆ ยิ่งต้องลงทุนต่อเนื่อง....คงไม่มีใครเสี่ยงทำถ้าไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนว่าจะเอายังไง

     ส่วนเรื่องผลประโยชน์ของประเทศนั้น ถ้ายังเชื่อว่า ระบบ Thailand3 ให้ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติน้อย คสช.ก็สั่งการให้แก้ไข ให้มีการเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นค่าภาคหลวง,ภาษีเงินได้,หรือแม้แต่ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ไปในอัตราที่เหมาะสม....คงไม่มีบริษัทผู้รับสัมปทานรายเดิมปฏิเสธ เพราะทุกรายก็พูดอยู่เสมอว่ายินดีทำเพื่อชาติ นี่เป็นเวลาพิสูจน์ความจริงใจของบริษัทในธุรกิจปิโตรเลียมเช่นกัน

    สอดคล้องกับข้อมูลของจากกระทรวงพลังงานนั้นต่างยืนยันมาโดยตลอดว่าบ้านเราไม่ได้มีปริมาณสำรองน้ำมันหรือปิโตรเลียมมากมายจนได้ชื่อว่าซาอุแห่งเอซียแต่อย่างใด เรามีปริมาณสำรองก๊าชในอ่าวไทยไปได้อีกเพียง 6-7 ปีเท่านั้นจากปริมาณสำรองที่พบ 9.04 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วนคอนเดนเสทมีประมาณ 216 ล้านบาร์เรล เหลือใช้ได้อีกประมาณ 6 ปี ขณะที่น้ำมันดิบนั้น หากไม่มีการสำรวจขุดเจาะเพิ่มเติมหรือพบแหล่งใหม่ๆ ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่มี 232 ล้านบาร์เรลจะหมดไปภายในระยะ 4-5 ปีจากนี้เท่านั้น

   อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนวาทะกรรมในเรื่องของการ 'ปฏิรูปพลังงาน'จะยังเป็นเผือกร้อนที่ คสช.ยังไม่สามารถจะผ่าทางตันลงไปได้ แม้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช.ผู้กำกับดูแลงานด้านนโยบายเศรษฐกิจจะเปิดเวทีรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเคาะโต๊ะหาบทสรุปที่ลงตัวได้

   ทั้งนี้ ทั้งนั้นเพราะข้อเท็จจริงในเรื่องของโครงสร้างพลังงานในบ้านเราไม่ใช่สูตรสำเร็จทางคณิตศาสตร์ที่ 1+1 เป็น 2 หาก คสช.ตัดสินใจผิดพลาดย่อมเสี่ยงต่อการเอาอนาคตของประเทศมาเป็นหนูทดลองเอาทุกเมื่อ!

    อีกประเด็นที่อยากฝาก คสช. นั่นคือควรจะใช้เวลาช่วงปลอดการเมืองแบบนี้ เดินหน้าเร่งเจรจาจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะการหาทางพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชาที่คาราคาซังมานานเพราะมีการดึงไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันเหมือนพื้นที่ทับซ้อนไทย- มาเลเซีย (JDA) ด้วยสถานะของรัฐบาล คสช.และเป้าหมายที่ชัดเจนในการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คสช.นั้นประชาชนคนไทยเชื่อว่า หากคสช.ออกหน้าเจรจาเคลียร์ปัญหาเองตัดนักการเมืองออกไป คงคลายความกังวลไปได้ว่า ระดับบิ๊กตู่ไม่มีวัน ถูกคนดูไบชี้นำ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนแน่ เพราะคสช.เน้นประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ!

                อนันตเดช พงษ์พันธุ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!