WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 18-22 ส.ค. 2557 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 25-29 ส.ค. 2557

    ฝ่ายกลยุทธ์ และแผนธุรกิจหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันปรับลดลงทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 99.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 94.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 110.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 115.56  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

·  บริษัทน้ำมันแห่งชาติ ของลิเบีย (National Oil Corp.หรือ NOC) เปิดเผยยอดผลิตน้ำมันดิบของประเทศล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 612,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปิดดำเนินการของแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara และ El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 164,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กำลังส่งออกน้ำมันดิบเที่ยวเรือที่ 2 จากท่าส่งออก Es Sider ขนาด 340,000 บาร์เรลต่อวัน หลังปิดดำเนินการมาร่วมปี

·   อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มหลั่งไหลออกมามากขึ้น จากซาอุดีอาระเบียที่ผลิตน้ำมันดิบแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 57 ส่วนสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13.9% มาอยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงสุดในรอบ 28 ปี ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบลงจากปีก่อน 7.2% มาอยู่ที่ 7.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 19 ปี

·   กระทรวงคลังญี่ปุ่นรายงานดุลการค้าของประเทศขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 25 โดยในเดือน ก.ค. 57 มียอดขาดดุลทั้งสิ้น 9.64 แสนล้านเยน เพราะการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หยุดเดินเครื่อง อีกทั้งประมาณการณ์ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของ ประเทศในเดือน ต.ค. 57 จะลดลงจากเดือนก่อน  2.7% อยู่ที่ 3.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน

·   สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซน (GDP) ไตรมาสที่ 2/57 หยุดนิ่งอยู่ที่ 0%ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้อิตาลีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์หลัง GDP หดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

·   สถานการณ์ในอิรักรุนแรงขึ้นเกิดการสังหารตัวประกันชาวสหรัฐฯและเผยแพร่ทางคลิปขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายฟรองซัวส์ โอลลองด์ มีแนวคิดเรียกประชุมประเทศที่เกี่ยวข้องอาทิ มหาอำนาจตะวันตก อิหร่าน และรัฐอาหรับ หาแนวทางต่อต้านกลุ่ม IS หรือ Islamist State อย่างเป็นรูปธรรมโดยให้ที่ประชุมร่วมพัฒนา Global Strategy เพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้นซึ่งนายโอลลองด์เห็นว่าการปะทะในครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 12 ปี  และ มีทีท่าจะรุนแรงขึ้นอีกหลังจากเยอรมันประกาศส่งมอบอาวุธให้กับกลุ่มเคิร์ด

·  ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Output) เดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.0%  ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน บ่งชี้แนวโน้มว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3/57 เมื่อเทียบกับปีก่อนจะอยู่ในกรอบ +2.5% ถึง +3.0% ตามที่คาดการณ์ไว้

·  สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ (National Association of Realtors) ของสหรัฐฯ รายงานยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.4% มาอยู่ที่อัตรา 5.15 ล้านหลังต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบปี

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบฃ

    ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดมีเพียงพอและนักลงทุนคาดว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน กอรปกับความไม่สงบในลิเบียและอิรัก จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ ตอกย้ำความอ่อนแอด้านปัจจัยพื้นฐาน หลัง Wood Mackenzie สถาบันวิจัยด้านพลังงานคาดการณ์โรงกลั่นยุโรปประสบปัญหาค่าการกลั่นต่ำ (Refining Margin) ที่สุดในรอบทศวรรษ โดยคาดว่าค่าการกลั่นของโรงกลั่นในยุโรปในปี 57 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $0.40/BBL คิดเป็น 10% ของค่าการกลั่นในปี 55 โดยค่าการกลั่นตกต่ำของยุโรปได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Heating Oil จากสหรัฐฯ รัสเซีย และตะวันออกกลางเข้ามายังยุโรป

   ทั้งนี้ อุปสงค์ในภูมิภาคตกต่ำจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่แม้ว่าจะดีขึ้นแต่ไม่สามารถก่อให้เกิดการเติบโตของอุปสงค์อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้โรงกลั่นในยุโรปได้ทยอยปิดดำเนินการไป หลังไม่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นจากสหรัฐฯ รัสเซียและตะวันออกกลาง ล่าสุดจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของของยุโรป ECB น่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในระยะเวลาอันใกล้ โดย Citibank คาดการณ์ ECB ออกมาเผยว่าจะประกาศมาตราการ QE มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) ในเดือน ธ.ค. 57 ซึ่งจะมุ่งเน้นการลดต้นทุนการกู้ยืมและเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจทั้งภาคสาธารณะและภาคเอกชน ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ $101-$104/BBL และ $91-96/BBL ตามลำดับ

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

    สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากอุปสงค์ในภูมิภาคตะวันออกกลางลดลง หลังช่วงอุปสงค์สูงสุดในฤดูร้อนและเทศกาลถือศีลอดผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับในสหรัฐฯที่กำลังจะสิ้นสุดเทศกาลขับขี่ในเดือนนี้  ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน  IES รายงานสำรองน้ำมันเบนซินในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 0.8% อยู่ที่ 10.16 MMB , EIA ของสหรัฐฯรายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ส.ค. 57 เพิ่มขึ้น 0.3% WoW มาอยู่ที่ 213.3 MMB สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ$ 109/BBL -$112 /BBL

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

    สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงตามอุปสงค์น้ำมันดีเซลภูมิภาคซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆอาทิ การเดินทาง การผลิตกระแสไฟฟ้า ลดลง รวมทั้งปริมาณสำรองดีเซลในบางประเทศอยู่ในระดับสูง อาทิ Ceypetco ของศรีลังกายกเลิกออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05%S ปริมาณ 150,000 บาร์เรล และน้ำมันอากาศยาน ปริมาณ 160,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 6-7 ต.ค. 57 เนื่องจากมีปริมาณสำรองภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ  นอกจากนี้ในสัปดาห์ก่อน โรงกลั่นจีนส่งออกน้ำมันดีเซลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศซบเซาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  ขณะที่ IES ของสิงค์โปร์รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ของสิงค์โปร์สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 20 ส.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.8% อยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรล สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ $114/BBL -$117/BBL เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!