- Details
- Category: น้ำมัน-แก๊ส
- Published: Tuesday, 05 November 2024 16:48
- Hits: 1498
กองทุนน้ำมันเริ่มดีปลดหนี้ก้อนโตเสร็จปี 2571 ติดลบเหลือ 99,087 ล้านบาท
สกนช.สรุปผลการดำเนินงานปีงบฯ 2567 สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเริ่มดีปลดหนี้ก้อนโตเสร็จปี 2571
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) สรุปผลการดำเนินการรอบปีงบประมาณ 2567 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 81 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ดีเซลยังเกิน 100 เหรียญสหรัฐ โดยฐานะกองทุนน้ำมันติดลบไม่เกินแสนล้านบาท ด้านสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ปรับตัวดีขึ้นมีรายรับราว 7,000 - 9,000 ล้านบาท/เดือน จะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2571
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. แถลงข่าวผลการดำเนินการในรอบปีงบประมาณ 2567 ( 1 ตุลาคม 2566-30 กันยายน 2567) ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบปีที่ผ่านมาเฉลี่ยราคาโดยรวมลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้านี้ โดยราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ที่ 81.68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าซึ่งอยู่ 83.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 102.01 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 112.90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น้ำมันเบนซินเฉลี่ย 95.12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้า 99.60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ถึงแม้เฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูงเกิน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสาเหตุมาจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ส่วนสถานการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับลงยังคงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดลง
ในด้านการรักษาระดับเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการดำเนินการตามแผนวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกปรับลดลงซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2566 ถึง มีนาคม 2567 รัฐบาลได้กลับไปตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร หลังจากที่ได้ขยับเพดานอยู่ที่ 32 บาท/ลิตรก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน มีการลดการจัดเก็บเงินในกลุ่มน้ำมันเบนซินลง 1 บาท/ลิตรเพื่อลดราคาขายปลีกลง 1 บาทในช่วงพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 ทำให้รายรับของกองทุนน้ำมันฯ น้อยลง โดยที่กองทุนน้ำมันฯ ยังต้องให้การอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่ ส่วนก๊าซ LPG ก็ถูกตรึงราคาตลอดปีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก.
ในด้านสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 โดยเริ่มมีรายรับราว 7,000 - 9,000 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนจากวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ที่เคยติดลบ 111,663 ล้านบาท (โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,066 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 47,597 ล้านบาท) เป็นติดลบเหลือ 99,087 ล้านบาท (โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 51,643 ล้านบาท บัญชี LPG 47,444 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567
ในด้านการดำเนินงาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับคะแนนประเมินจากทุนหมุนเวียนในปีบัญชี ในเบื้องต้น อยู่ที่ 4.45 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 ส่วนคะแนนการประเมิน ITA สกนช. ได้รับ 95.96 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งมากที่สุดในหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน และเป็นที่ 2 ขององค์การมหาชน
สำหรับ ในปีงบประมาณ 2568 กองทุนน้ำมันฯ ยังคงดำเนินการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังคงไว้ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่สำคัญดังนี้
1. การชำระหนี้เงินกู้ยืมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน โดยจะเริ่มชำระเงินต้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 ประมาณ 139 ล้านบาท และเพิ่มการผ่อนชำระหนี้เงินต้นขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนตามวงเงินกู้ยืม ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอีกประมาณ 250 – 300 ล้านบาท/เดือน โดยจะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2571
2. การติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเรียกเก็บเงินไว้ในช่วงที่ยังมีภาระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน
3. การจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2568 -2572 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
4. สกนช. ดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2567
ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กองทุนน้ำมันฯ จะรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยหลักการดำเนินการที่ว่า“เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้”