- Details
- Category: ไฟฟ้า ลม โซลาร์
- Published: Monday, 30 September 2024 09:32
- Hits: 6414
กกพ.เร่งเดินหน้าเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียว
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้
(1) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์)
(2) พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์)
(3) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์
และ (4) ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกลุ่มรายชื่อเดิมที่เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านความพร้อมทางด้านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้ว แต่ไม่ได้รับคัดเลือก จำนวน 198 ราย
ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่เนื่องจากการจัดหาครบตามเป้าหมายแล้วจึงไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ผ่านมา ในขั้นตอนต่อไป กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573
สำหรับ กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย มายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้
โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี 2567
ที่ผ่านมา กกพ. ได้ติดตามสถานะโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ได้แก่ (1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) (2) ลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และ
(4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ และโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 เมกะวัตต์
หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายส่งผลให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม จำนวน 22 ราย ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไป มีผลต่อกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียวตามแนวทาง Utility Green Tariff (UGT) ของ กกพ. ที่ต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย
“ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาททางปกครอง และศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ซึ่งในระยะเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว
และล่าสุดบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าในรอบใหม่ที่ได้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
และปรับเลื่อน SCOD ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 โดยให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 ราย แจ้งความประสงค์การขอปรับเลื่อน SCOD เสนอให้ กกพ. พิจารณาก่อนลงนามสัญญาต่อไป
“ด้วยการเร่งเดินหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net - Zero Carbon Emission)”ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย