- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Thursday, 29 June 2023 20:05
- Hits: 1337
นักวิชาการทั่วประเทศ-เอกชน-บพท.สานพลังความรู้สู่ชุดข้อเสนอแก้จน 8 ประการ เตรียมพร้อมใส่พานเสนอรัฐบาลใหม่-สมาชิกรัฐสภา ใช้เป็นคู่มือแก้จนแบบเบ็ดเสร็จ
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ระดมสมองหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ สังเคราะห์ชุดความรู้ เป็นข้อเสนอแก้ความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ 8 ประการ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่สำหรับใช้กำหนดนโยบายแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ควบคู่กับการผลักดันนวัตกรรมต้นแบบแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด ใน 7 จังหวัด Sandbox หวังลบล้างความยากจนให้เสร็จในปี 2570 ขณะที่ภาคเอกชนมองต้องใช้พลังของภาคีเครือข่ายทั้งชุมชน เอกชน สถาบันการศึกษา และข้าราชการ ร่วมมือกัน และให้รัฐช่วยปลดล็อกข้อกฎหมายที่เป็นอุสรรคต่อการสร้างรายได้ของชุมชน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานสถานการณ์ความยากจน ปัญหาและทางออก ในเวทีสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งมีการอภิปรายจากบุคลากรสำคัญ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และนักวิชาการ ร่วมระดม เพื่อฉายภาพและนำเสนอเสนอแนวทางแก้จนลดเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญระบุว่างานแก้ปัญหาความจนและลดความเหลื่อมล้ำเป็นงานที่ยากมาก ต้องการองค์ความรู้จากงานวิจัยแบบชี้เป้า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ขณะเดียวกันก็ต้องการกลไกกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีหลายภาคส่วนในพื้นที่ เนื่องจากเป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาคือการช่วยคนจนที่อยู่ล่างสุด ให้ลุกขึ้นช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วพัฒนายกระดับให้หลุดพ้นจากความยากจน
“ข้อค้นพบจากระบบข้อมูลชี้เป้า ที่บพท.พัฒนาร่วมกับทีมวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยในพื้นที่บ่งชี้ว่าเหตุแห่งความจนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน โดยภาคเหนือมีสาเหตุจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน อันเนื่องมาจากเงื่อนไขสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา และขาดแคลนปัจจัยการผลิต ขาดทักษะด้านอาชีพ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสาเหตุจากการขาดแคลนแหล่งน้ำทางการเกษตร อีกทั้งระดับราคาพืชผลก็ขายได้ราคาต่ำ และมีการศึกษาน้อย ขาดทักษะด้านอาชีพ ส่วนภาคกลาง มีสาเหตุจากการศึกษาน้อย และเผชิญภาวะยากจนเฉียบพลัน จากปัญหาสุขภาพ และภัยธรรมชาติ สำหรับภาคใต้ มีสาเหตุจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงด้านรายได้และอาชีพ”
ดร.กิตติ กล่าวต่อไปว่าเมื่อสังเคราะห์มิติความยากจนโดยรวมแล้ว พบว่าคนจน ส่วนใหญ่จะมีระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ปัญหาด้านทุนมนุษย์ คือมีการศึกษาน้อย มีทักษะด้านอาชีพต่ำ และสุขภาพไม่แข็งแรง รองลงมาคือทุนกายภาพ ที่เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัย และที่บริการโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย ขณะที่ปัญหาด้านทุนทางการเงิน คือการมีภาระหนี้สิน ขาดแคลนเงินออม และขาดทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยการผลิต เป็นปัญหาลำดับที่ 3 ส่วนปัญหาทุนทางสังคม อันเนื่องมาจากการเข้าไม่ถึงบริการสวัสดิการภาครัฐ เป็นปัญหาลำดับที่ 4 และปัญหาทุนธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินทำกิน เป็นปัญหาที่มีระดับความเข้มข้นต่ำสุด
“ผลจากการทำงานวิจัยแก้จนลดเหลื่อมล้ำแบบมีส่วนร่วมของบพท. กับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ถูกพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจน (Pratical Poverty Provincial Connext - PPPConnext) และแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Platform : PPAP) โดยมีข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากกลไกความร่วมมือ ซึ่งเป็นถอดข้อมูลจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ สำหรับใช้ประโยชน์ในการออกแบบโมเดลแก้จน ตลอดจนกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงจุด ซึ่งพร้อมจะส่งต่อไปยังระดับนโยบาย และรัฐบาลใหม่ต่อไป”
ดร.กิตติ กล่าวด้วยว่าข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย. บ่งชี้ว่าผลลัพธ์จากการบูรณาการฐานข้อมูล และการแก้จนภายใต้กลไกกระบวนการการมีส่วนร่วม สามารถให้ความช่วยเหลือคนยากจน ใน 20 จังหวัดนำร่อง ที่มีระดับความเข้มข้นของปัญหาความจนสูงสุดคือแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ผ่านงานวิจัยนวัตกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไปแล้วกว่า 121,935 คน จากจำนวนคนจนที่ค้นพบ 1,039,584 คน
ผู้อำนวยการ บพท.ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่เตรียมจะเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภา รวม 5 ข้อ คือ 1.คงกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ ที่ควรจะมีนโยบายจัดทำกลไกบูรณาการแบบนี้ต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ 3.การจัดสวัสดิการภาครัฐ รัฐควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำ 4.ระบบข้อมูล เพื่อชี้เป้าหมายในระดับพื้นที่ ควรดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และมีการบริหารจัดการจากคนในพื้นที่ และ 5.การเสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง
นอกจากนี้ยังขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด คือ ลำปาง กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา เป็นจังหวัดนำร่องจัดทำ Sandbox เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมายให้ครัวเรือนยากจนในระดับ 20% จากล่างสุดสามารถเข้าถึงบริการ และได้รับโอกาสต่างๆ 100%
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึง “ความจน ความเหลื่อมล้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อมีเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีช่องว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ปัญหาความยากจนที่ตัวบุคคล ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ควบคู่กับการเสริมพลังกลุ่มยากจนและกลุ่มเปราะบางควบคุมกันไป
ทั้งนี้ประกอบไปด้วยเรื่องย่อยๆ เช่น เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ขณะเดียวกันเราไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ, การจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาแบบเดิมไม่บรรลุผลความเสมอภาคทางการศึกษา, ระบบสาธารณสุขขาดมาตรฐานกลาง ทั้ง 3 ระบบ, การออกแบบระบบจัดการรายได้ยามชราขาดการบูรณาการและความยืดหยุ่น, การกระจายอำนาจไม่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง และ ระบบภาษีขาดความเป็นธรรม ขณะเดียวกันยังพบว่า นโยบายการคุ้มครองทางสังคมขาดการพัฒนาเชิงระบบ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การคุ้มครองทางสังคมในภาพรวมของประเทศ ขาดการบูรณาการฐานข้อมูล และขาดการประเมินผลกระทบด้วย
อย่างไรก็ดีได้มีข้อเสนอนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเสริมพลังทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย 1. ด้านการศึกษาและการทำงานของคนจน โดยปฏิรูปการศึกษา ยกระดับแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้แรงงานมีการพัฒนาความสามารถและเข้ามามีส่วนร่วม 2. ด้านสวัสดิการ การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่เหมาะสม เชื่อมฐานข้อมูลสวัสดิการและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงสิทธิ์ มีกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานการกลางและเป็นธรรม จัดระบบจัดการรายได้ยามชรา และสนับสนุนนโยบายและมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรม และ 3. ด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจ ให้การบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นอำนาจของท้องถิ่น
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “แนวโน้มความยากจน ภายใต้พลวัตเศรษฐกิจปัจจุบัน” ว่า ปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ต่อจีดีพีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 87% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ต้องไม่สูงกว่า 80% ยิ่งกว่านั้นหนี้เสียหรือ NPL ในระบบสถาบันการเงิน ก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากระดับ 7.3% ในปี 2563 ขยับเป็น 12.1% ปี 2564 และมาอยู่ที่ 15.6% เมื่อปี 2565
“กรณีหนี้เสีย รวมทั้งหนี้ครัวเรือน หากไม่ได้รับแก้ไขจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน อีกทั้งยังจะเป็นชนวนเหตุนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงทางสังคม”
นายจิตเกษม กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนควรต้องดำเนินการ ให้สอดคล้องกับสถานะกลุ่มหนี้ โดยหนี้เสีย ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และกระจุกตัวอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ควรพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้ สำหรับกลุ่มหนี้เรื้อรัง ที่ลูกหนี้มักเลือกจ่ายขั้นต่ำ ทำให้ระยะเวลาการเป็นหนี้ยาวนาน ควรพิจารณาแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ส่วนกลุ่มลูกหนี้ใหม่ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องกวดขันสถาบันการเงินให้อนุมัติสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกหนี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในหัวข้อ “เอกชนกับการแก้ไขปัญหาความยากจน” ว่าการแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ยากเพราะต้องทำทั้งการแก้ความยากจนในระดับบุคคลไปจนถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลง ที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้เงินในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำถึงปีละประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำโดยตรงประมาณ 5 แสนล้านบาท และอีก 3 แสนล้านบาทเป็นงบประมาณที่ทำให้โครงการพิเศษแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อย่างได้ผล
ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจนคือการใช้พลังของภาคีเครือข่ายทั้งชุมชน เอกชน สถาบันการศึกษา และข้าราชการ โดยต้องกำหนดบทบาทของแต่ละภาคส่วนที่ชัดเจนและทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยความสามารถและจุดเด่นของชุมชนคือการผลิตสินค้าจากชุมชน แต่ชาวบ้านในชุมชนไม่เก่งเรื่องของการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือใช้ความรู้ทางวิชาการ และงานวิจัยเข้ามาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า และกระบวนการผลิตซึ่งในส่วนนี้สถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ และงานวิจัยเข้ามาใช้ในการพัฒนาสินค้าในชุมชน รวมทั้งส่งนักศึกษาหรือบุคลากรจากสถานศึกษาลงไปให้ความรู้กับระดับชุมชนมากขึ้น ส่วนภาคเอกชนก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาส่งเสริมด้านการตลาด โดยสร้างกลไกที่ทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น
ส่วนของภาคราชการบทบาทที่สำคัญคือเรื่องของการปลดล็อกข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรายได้ของชุมชน ตัวอย่างในอดีต ที่เคยปลดล็อกข้อกฎหมายแล้วสร้างประโยชน์ต่อชุมชนทั่วประเทศได้ เช่น การทำธนาคารต้นไม้ การแก้กฎหมายให้สามารถทำป่าชุมชนได้ รวมถึงการส่งเสริมธนาคารชุมชนช่วยให้กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องเสียดอกเบี้ยสูงๆ ให้กับธนาคารพาณิชย์
ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง “พลัง ววน.กับการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ” ว่า การแก้ปัญหาความยากจนแบบชั่วคราวจะไม่ยั่งยืนและไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลก ดังนั้นหน้าที่ของนักวิจัย คือ การสร้างความเข้มแข็งของคนจนในสังคม และความเหลื่อมล้ำ โดยแผนงานโครงการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ที่ควรจะดำเนินการได้แก่ 1. งานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบาย 2. การวิจัยเพื่อเสริมสร้างพลังสังคมและชุมชน 3.งานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ทางวิชาการ และ 4. งานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
นายกฤษณะพงศ์ พงศ์แสนยากร นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานสัมมนา กล่าวว่าการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ในลักษณะของการสานพลังความรู้และพลังภาคีหลายภาคส่วนเพื่อ พัฒนาไปเป็นข้อเสนอส่งต่อให้รัฐบาล และรัฐสภาสำหรับใช้เป็นข้อมูลสู่การแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในระดับนโยบาย เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างมาก
โอกาสนี้นักวิชาการ นักวิจัย ได้ระดมความคิดเห็น ร่วมกับการสังเคราะห์สาระสำคัญของเวทีสัมนาฯ สำหรับจัดทำเป็นข้อเสนอส่งมอบให้รัฐบาลชุดใหม่ และสมาชิกรัฐสภา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.สืบสานต่อยอดการทำงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ให้ทำหน้าที่เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ แบบต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรได้รับการยกระดับเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในแต่ละพื้นที่
3.การจัดสวัสดิการภาครัฐ ควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำ
4.เชื่อมโยงระบบข้อมูลครัวเรือนของประเทศ โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมบริหารจัดการระบบข้อมูล และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยเป็นปัจจุบันตลอดเวลา เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความจน และคุ้มค่างบประมาณ
5.สร้างเครือข่าย และกลไกกระบวนการช่วยเหลือคนจน และติดตามประเมินผล ภายใต้พลังความรู้จากงานวิจัยและพลังการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ และมีการบริหารจัดการโดยคนในพื้นที่
6.เสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง
7.ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่หน่วยงาน องค์กรธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลคนจน
8.พัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่มหาวิทยาลัย ให้เป็นแหล่งจำหน่าย หรือกระจายผลิตผลคนจน
A6980