- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Friday, 11 August 2023 13:24
- Hits: 2181
TIA ผนึกความร่วมมือศาลยุติธรรมลุยอบรมกฎหมาย Class Action
สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ผนึกความร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เดินหน้าโครงการอบรมข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) หวังเป็นเครื่องมือสำคัญของตลาดทุน
สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการอบรม เสริมสร้างความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ประชาชน และบุคคลภายนอก ให้สามารถเข้าถึงหลักการอำนวยความยุติธรรม ได้ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จัดโครงการสัมมนากฎหมายเฉพาะด้าน เรื่อง ข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)”
โดย นายครรชิต วงศ์ไทย เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในสังคม เนื่องจากประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา และสามารถลดปริมาณคดีในศาลได้
ทั้งนี้การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นคดีประเภทที่มีสมาชิกกลุ่มจำนวนมาก เช่นคดีละเมิดคดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เป็นวิธีการตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา 222/1 ถึงมาตรา 222/49 มีลักษณะเด่น คือ เป็นคดีที่สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งหรือหลายคนสามารถใช้สิทธิฟ้องสำหรับตนเองและสำหรับกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใต้สถานการณ์เดียวกัน หรือมีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน ทำให้สามารถคุ้มครองกลุ่มบุคคลจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ ซึ่งสมาชิกกลุ่มแต่ละคนอาจได้รับความเสียหายจำนวนไม่เท่ากัน ตั้งแต่เสียหายเพียงเล็กน้อยจนถึงเสียหายมาก
นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผยว่า สมาคมเดินหน้า ร่วมเป็นส่วนหนึ่งผลักดันให้กฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 08 ธันวาคม 2558 มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติชัดเจนมากขึ้น และเพื่อให้ ผู้ลงทุนและประชาชนมีเครื่องมือป้องกันและช่วยเยียวยา จากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันสถิติของผู้กระทำความผิด มีจำนวนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกรณีภัยในตลาดทุน การฉ้อฉลที่เกิด จนเกิดความเสียหายให้กับผู้ลงทุนรายบุคคล หรือรายย่อย อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้จากผลการวิจัย ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ความรู้ความเข้าใจ เรื่อง Class Action ยังต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี ดังนั้นทาง สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจึงได้ ผนึกความร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ในการจัดโครงการสัมมนาเฉพาะด้าน เรื่อง ข้อกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้กับบุคลากรและข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเรื่อง Class Action เกี่ยวกับคดีในตลาดทุนเกิดขึ้นและมีผลใช้ในทางปฏิบัติจริง และเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากก่อนหน้าที่ได้ร่วมกับ สภาทนายความฯเปิดหลักสูตรอบรมเรื่อง Class Action เพราะทนายความคือจุดตั้งต้นสำคัญของการทำคดีแบบกลุ่ม
“เป้าหมายสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนามีความรู้ ความเข้าใจ ในสิทธิการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงนำไปใช้ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ต่อไป” นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว
A8298