- Details
- Category: เศรษฐกิจทั่วไป
- Published: Friday, 06 October 2023 12:17
- Hits: 1847
สอวช. เร่งเครื่องใช้ อววน. แก้โจทย์ยากประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก แก้ยากจน ลดเหลื่อมล้ำ พ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในระหว่างวันที่ 3 - 4 ตุลาคม 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากร สอวช. ได้เข้าร่วมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และ Policy Forum เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ ที่อาคารรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิด ในงานยังได้มีการจัดประชุมห้องย่อย นำเสนอภาพรวมผลงาน ววน. โดยแบ่งออกเป็น 6 theme ได้แก่ 1) “ปาก ท้อง ดี” ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเศรษฐกิจฐานราก 2) เกษตรและอาหาร พลังเพื่ออนาคตไทย 3) สิ่งแวดล้อมดี “ดังและร้อน: ลด และ รับ กับภาวะโลกรวน” 4) สุขภาพดี “ก้าวที่มั่นคงของสุขภาพคนไทยด้วย ววน.” 5) สูงวัยดี มีพฤฒิพลัง และ 6) สร้างกำลังคนดี ประเทศมีอนาคต “การพัฒนากำลังคนด้าน ววน. และการสร้างกำลังคนทักษะสูง”
ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวถึงโจทย์การพัฒนาที่สำคัญและโอกาสของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) ที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์ประเทศได้มี 5 โจทย์หลัก ได้แก่ 1. โจทย์ด้านเศรษฐกิจ คือ อววน. จะช่วยนำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง ซึ่งการที่ประเทศจะเข้าสู่ประเทศรายได้สูงได้นั้น ประชากร ต้องมีรายได้ 400,000 บาท ต่อคนต่อปี หรือเดือนละ 30,000 บาท ขณะที่คนที่อยู่ตรงกลางของประชากร 76 ล้านคน มีเงินเดือนประมาณ 7,000 บาท มองว่า อววน. จะเข้าไปมีส่วนช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ประมาณ 10% 2. โจทย์ความต่างกันของภาครายได้ ประเทศไทยมีประเด็นแตกต่างจากประเทศอื่นคือ คนที่มีรายได้สูงสุดกับคนที่มีรายได้ต่ำสุด ตัวเลขแตกต่างกันมาก ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตต่างกันและเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ
3. โจทย์เชิงสังคม ในการสร้างสังคมที่อยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสามัคคีปรองดอง 4. โจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปลี่ยนจากภาวะโลกร้อนเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร สุขภาพและภัยพิบัติ 5. โจทย์อนาคตของประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักคือ เรื่องของความรู้ ที่เราต้องรักษาความรู้บางอย่างไว้ เพื่อไล่กวดให้ทันกับวิทยาการที่เกิดขึ้นในโลก เช่น ฟิสิกส์พลังงานสูง (High energy physics), จีโนมิกส์ (genomics), การส่งดาวเทียมไปนอกโลก หรือ เรื่องของดาราศาสตร์ อีกเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาคน ในมุม อววน. เราให้ความสำคัญกับคนไทยทุกกลุ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงหลังเกษียณ ดูว่าต้องทำอย่างไรให้เรามีกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทำให้คนมีอาชีพ โดยโจทย์สำคัญที่มุ่งเน้นคือการยกระดับประชากรกลุ่มฐานราก
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เรามีสภานโยบาย อววน. ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีจาก 10 กระทรวงฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมกันเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ ปลดล็อกในด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และด้าน ววน. ของประเทศ จนเกิดโครงการที่เป็นประโยชน์มากมายที่ตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ อาทิ สังคมสูงวัย หนี้ภาคครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร และน้ำ
ดร.กิติพงค์ ยังได้ร่วมการเสวนา “อนาคตประเทศไทย: ก้าวย่างของการมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วย ววน.” โดยกล่าวว่า เมื่อเทียบกับ 30 ปีก่อน ถือว่าประเทศไทยก้าวไปไกลมาก เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะทางไว้มากมาย มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจาก 0.22% เพิ่มเป็น 1.21% คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเก็บเกี่ยวผลจากงานที่ลงทุนไปได้แล้ว ยกตัวอย่างโครงการ IDEs (Innovation Driven Enterprise) ตั้งเป้า 5 ปี สามารถผลิตผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมได้ 1,000 ราย มีค่าเฉลี่ยผลประกอบการรายได้รายละ 1,000 ล้านบาท หลายปีก่อน คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือ กลไกต่างๆที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น การออกกฎหมายส่งเสริมมหาวิทยาลัยทำ Holding company รวมถึงยังมีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค มีมหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายกว่า 55 แห่ง สามารถรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวช่วงหนึ่งของการสัมมนา ในหัวข้อ “นโยบาย ปากท้องดี โดย ววน.” ตัวชี้วัดความยากจนจากผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,800 บาทต่อเดือน ประเทศไทยมีคนยากจนอยู่ถึง 4.4 ล้านคน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อแก้ปัญหาความยากจน มีความชัดเจนในทุกแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำระบบ ววน. ลงไปดำเนินการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุน ววน. ผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนทั้ง 9 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีพลังของมหาวิทยาลัย ที่มีระบบนิเวศเข้ามาสนับสนุน ทั้งโรงงานต้นแบบ สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งมีระบบมัลติมีเดีย ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้อีกด้วย
ด้าน ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมดี ลดและรับ กับภาวะโลกร้อน” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาจะทำโดยประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ ทั่วโลกต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา ดังนั้นจึงมีการจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่างกฎระเบียบวางระบบของโลก โดยประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) โดย สอวช. เป็นผู้ประสานงานหลักของหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการจัดทำนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานหมุนเวียน ประหยัดพลังงาน มุ่งสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจน โดยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสำหรับการเกษตร สุขภาพ ฯลฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า แม้งานวิจัยจะมีส่วนช่วยในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ไม่มาก แต่มีความสำคัญที่ต้องทำเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ สร้างความเชื่อมั่นเพื่อนำไปใช้ต่อในระดับโลก นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ดำเนินโครงการ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบ Net Zero City ซึ่งต้องดึงประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมาออกแบบโครงการร่วมกัน
A10192