WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

7

 

ปีแรก'ทีวีดิจิตอล'หืดขึ้น ก้าวสู่ปี 2-ใครจะรุ่ง-ร่วง

 

    แม้ทีวีดิจิตอลในประเทศไทยออกอากาศมาครบ 1 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในรอบปีที่ผ่านมาในมุมของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจมาได้แทบทุกรายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำธุรกิจในปีแรกไม่สวยหรูนัก รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า จากปัจจัยในแง่ลบต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น

    ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมให้มีการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ออกไปอีก 1 ปี

     มองย้อนกลับไป ปัญหาเริ่มที่การเปิดประมูลทีวีดิจิตอล ที่มีการแข่งขันสู้ราคาจนราคาประมูลพุ่งสูงขึ้นจากราคาตั้งต้นการประมูลหลายเท่าตัว ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง 

     ประกอบด้วยช่องทั่วไปความชัดสูง (เอชดี) มีราคาตั้งต้นการประมูลรวม 7 ใบอนุญาตที่ 10,570 ล้านบาท แต่ผลการประมูลรวมจบที่ 23,700 ล้านบาท ช่องทั่วไปความคมชัดมาตรฐาน (เอสดี) ราคาตั้งต้นการประมูลรวม 7 ใบอนุญาตที่ 2,660 ล้านบาท มีผลการประมูลรวมจบที่ 15,950 ล้านบาท ช่องรายการข่าวสารและสาระ ราคาตั้งต้นการประมูลรวม 7 ใบอนุญาตที่ 1,540 ล้านบาท แต่ผลการประมูลรวมจบที่ 9,238 ล้านบาท ช่องรายการเด็กเยาวชนและครอบครัว ราคาตั้งต้นการประมูลรวม 3 ใบอนุญาตที่ 420 ล้านบาท แต่ผลการประมูลรวมจบที่ 1,974 ล้านบาท เห็นชัดว่าไปจบที่ตัวเลขสูงลิ่ว จนน่าห่วงว่าจะมี

รายได้เข้ามาชดเชยต้นทุนนี้ได้อย่างไร 

    ปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพหืดขึ้นคอของทีวีดิจิตอล มีตั้งแต่ปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงความล่าช้าในเรื่องการวางโครงข่ายทีวีดิจิตอลที่ไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้

อาทิ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้เหตุผลว่า โครงข่ายภาคพื้นดินในการให้บริการทีวีดิจิตอลล่าช้าว่าต้องรอไฟเขียวจากผู้บริหารชุดใหม่หลังการเมืองเปลี่ยนแปลง อีกทั้งคุณภาพการบริการโครงข่ายอื่นๆ ก็มีปัญหาความไม่เสถียรในปีแรก

     ยังมีปัญหาการออกคูปองเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลให้แก่คนไทย ล่าช้าจากแผนเดิมที่ กสทช.จะแจกจ่ายให้ในเดือนพฤษภาคม 2557 หลังจากทีวีดิจิตอลออกอากาศได้ 1 เดือน แต่แจกจ่ายได้จริงในเดือนตุลาคม 2557 เพราะไม่สามารถตกลงราคาคูปองที่ กสทช.ได้ตั้งราคาไว้ที่ 1,200 ล้านบาท แต่โดนคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากกลุ่มของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ท้ายสุดมาจบที่ราคาคูปองฉบับละ 690 บาท

    นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในปีแรก ยอมรับว่ามีปัญหาหลายเรื่อง 

      ประกอบด้วย 1.งบประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิตอล 63.5 ล้านบาท ที่จนถึงขณะนี้กระบวนการของสำนักงาน กสทช.ยังไม่สามารถออกประกาศหลักเกณฑ์คุณสมบัติ (ทีโออาร์) เพื่อหาบริษัทเอกชนมาทำหน้าที่ดังกล่าวได้ แม้เวลาจะผ่านมาถึง 1 ปีแล้วก็ตาม 

     2.การให้บริการโครงข่ายในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างมีปัญหา ผู้ประกอบการซึ่งเป็นภาครัฐทั้งหมดดำเนินการได้อย่างล่าช้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเดือดร้อนด้านเรตติ้งคนดู จากการที่ช่วงแรกโครงข่ายไม่ครอบคลุม 

และ 3.การแจกคูปองทีวีดิจิตอลที่ส่งถึงมือประชาชนล่าช้า สาเหตุหลักมาจากการจัดส่งของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ที่มีเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่นำคูปองที่ต้องแจกจ่ายให้ประชาชนมาตั้งโต๊ะรับแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลเอง หรือนำไปให้ผู้นำชุมชนที่เปิดรับแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล

     "ปัญหาที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต้องเจอในปีแรก กสทช.ก็เข้าใจ แต่จะมาโทษ กสทช.ฝ่ายเดียวทั้งหมดก็ไม่ถูก เพราะ กสทช.เองก็มีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องของไปรษณีย์ไทย หรือผู้ประกอบการโครงข่ายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.บางรายที่ดำเนินงานได้อย่างน่าผิดหวัง แต่ กสทช.ก็ได้ให้การช่วยเหลือโดยได้กำหนดให้มีการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ออกไปให้แล้ว"นายธวัชชัยกล่าว

     นายธวัชชัยกล่าวด้วยว่า ในส่วนของเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่สูงเกินไป ทางผู้ประกอบการเองไม่ควรนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการแบกรับภาระ เพราะต้นทุนเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องประมาณการไว้ก่อนเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้

แต่ถ้าแบกรับต้นทุนที่สูงและเข้ามาแบบไม่มีความรู้ธุรกิจก็จะมีปัญหาได้ แม้ในปีแรกผู้ประกอบการทุกรายต้องเจอปัญหาแบบเดียวกัน แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่น่าชื่นชม ที่สามารถปรับตัวได้ดี จับจุดของการให้บริการได้ จนมีเรตติ้งที่ดีและผลประกอบการมีกำไรตามมาในที่สุด เช่น ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี ช่อง 8 เป็นต้น

นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน กล่าวว่า ในภาพรวมการประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลในปีแรกของผู้ประกอบการทั้งหลายมีปัญหาจริง ไม่ได้ดูสวยหรูเหมือนที่ กสทช.โฆษณาชวนเชื่อให้กับพวกผู้ประกอบการก่อนที่จะเข้าประมูล

   จึงทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาไม่เป็นไปตามแผน เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเรตติ้งคนดู ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดอัตราค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรม 

ความเดือดร้อนนี้จึงเป็นที่มาของการยื่นเรื่องขอ กสทช.ให้มีการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ออกไป 2 ปี แม้ท้ายสุด กสทช.จะอนุญาตแค่ 1 ปีก็ตาม แต่ทางผู้ประกอบการก็ยินดี เพราะอย่างน้อยก็จะได้นำช่วงเวลาเพิ่มอีก 1 ปีที่ได้รับมา ไปทำการเยียวยาแก้ไขปัญหา และพัฒนาการให้บริการได้ดีขึ้น

    นายสุภาพ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การบริการทีวีดิจิตอลในปีแรกพบปัญหาที่สำคัญๆ ได้แก่ เรื่องการวางโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ กสทช.กลับไม่สามารถจัดการปัญหาได้ การที่ประชาสัมพันธ์ กสทช.ล่าช้าที่มาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการออกทีโออาร์หาผู้มาดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะคูปองทีวีดิจิตอล ที่เดิมที กสทช.บอกจะออกในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังจากเริ่มออกอากาศทีวีดิจิตอลในเดือนเมษายน 2557 แต่เอาเข้าจริง กสทช.กว่าจะดำเนินการแจกได้ต้องรอถึงช่วงปลายปี 2557

    ส่งผลให้การให้บริการทีวีดิจิตอลในช่วง 7-8 เดือนแรกมีคนดูน้อย เรตติ้งไม่ดี อีกทั้งผู้ประกอบการเองก็ไม่กล้านำรายการดีๆ ที่ซื้อหรือผลิตไว้มาออกอากาศ เพราะกลัวไม่มีคนดูและคุ้มค่า โดยในช่วงนั้นผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นต้องลดแลกแจกแถม เงินค่าขายช่วงเวลาโฆษณา ในราคา 10,000 บาทต่อนาที จากปกติราคาหลักแสน เพื่อพยุงให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป 

ต้องมารอดูกันต่อไปว่า เมื่อขึ้นปีที่ 2 ทั้ง กสทช.และผู้ประกอบการเหล่านี้จะสามารถจัดการกับปัญหาที่เป็นอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน และท้ายสุดจะมีใครรุ่งหรือร่วงบ้าง...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!