WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

011รัฐให้สิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนเพียบ

    แนวหน้า : รัฐให้สิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุนเพียบ นายกฯลุยตั้งเขตศก.พิเศษ

    นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ กำกับเอง สั่งเดินหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ย้ำ เริ่มเดินหน้าปีนี้ ผุดแนวคิด “โซเชี่ยล บิสซิเนส” เชื่อมโยงธุรกิจกับประชาชนในพื้นที่ “หม่อมอุ๋ย” โว มาตรการจูงใจให้เช่าที่ราคาถูก-สิทธิทางลดภาษี

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการส่งเสริมการลงทุนเขตธุรกิจ

    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เป็นไปตามแนวทางของคณะขับเคลื่อน โดยรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์ในเรื่องการค้าการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งในเขตการลงทุนเดิมและการขับเคลื่อนให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ใกล้ชายแดนที่กำหนดไว้แล้ว 6 แห่ง

    “ระยะต่อไปภาคเอกชนต้องมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ได้และประเด็นสำคัญที่ได้สั่งการไปในวันนี้คือ การจัดตั้งโซเชี่ยล บิสซิเนส คือ การประกอบการที่ตอบสนองต่อสังคม ต้องการให้มีการประกอบการเหมือนกับโครงการหลวงหรือโครงการดอยตุงโดยจะอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ด้วย เพื่อให้มีความสอดคล้องกับห่วงโซ่ของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องสหกรณ์ ผู้ประกอบการด้านการผลิต เช่น เกษตรกร จะได้ไม่เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยมีความมุ่งหมายเน้นหนักในเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เดิมไว้ด้วย ถ้าจะลงทุนใหม่ก็อยู่ในกรอบสิทธิประโยชน์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความแตกต่างที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้กำหนดไว้แล้ว และทั้งหมดจะต้องเร่งรัดให้มีการเริ่มต้นภายในปี 2558 นี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

      ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมติดตามความคืบหน้าการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและการส่งเสริมการลงทุนเขตธุรกิจ โดยที่ประชุมมีความชัดเจนมากขึ้นในหลายประเด็น เช่น 1.ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกาศไว้ หากมีผู้ต้องการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ บริษัทเหล่านี้จะเสียภาษีเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ 2.สำหรับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถยื่นขอสิทธิพิเศษจากสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เพื่อไม่ต้องเสียภาษีในระยะเวลา 5 ปี 8 ปี หรือ 10 ปีแล้วแต่ประเภทของธุรกิจ

     3.สำหรับปัญหาที่ดินแพงเพื่อการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้จัดสรรที่ดินไว้สำหรับจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง 4.เมื่อมีการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง จากนั้นทางกระทรวงมหาดไทยจะโอนที่ดินไปให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ประกาศอัตราค่าเช่าสำหรับให้ภาคเอกชนเพื่อการเช่าในระยะยาว แล้วแต่จะต่อรองกัน

      “ขณะนี้ มีผู้ประกอบการยื่นคำขอถึง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 6 ราย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและอยู่ในขั้นตอนของพิจารณาอีกกว่า 10 ราย สำหรับการลงทุนในเบื้องต้นนั้น เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการ อันดับแรกคือให้ทางผู้ลงทุนยื่นขอเช่าที่ดินก่อน โดยต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1 ปีสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรม แต่หากเป็นธุรกิจบริการทั่วไป เพียงแค่จดทะเบียนก็สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้โดยทันที” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

     ระบุมีรายงานแจ้งว่า สำหรับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด

บีโอไออนุมัติลงทุน  2.7 หมื่นล้าน

    ไทยโพสต์ : ทำเนียบรัฐบาล * บอร์ดบีโอไออนุ มัติส่งเสริมการลงทุนใน 8 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 27,838 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้า พร้อมเห็นชอบให้เพิ่มมาตรการจูงใจลงทุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบและมอบกระทรวงพลังงานพิจารณาลดค่าไฟฟ้าก๊าซ

       นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิด เผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการจำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 27,838.4 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตไฟฟ้า อาทิ บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านโป่ง ยูทิลิตี้ จำกัด และบริษัท คลองหลวง ยูทิลิตี้ จำกัด เป็นต้น

    นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอได้พิจารณาเรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศในอนาคต ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการเพิ่ม 2 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย มาตรการลดต้นทุนการผลิต และมาตรการส่งเสริมการลงทุน

   "ปัจจุบันการส่งเสริมอุตสาห กรรมพลาสติกชีวภาพของไทย เพียงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เพราะต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพในไทยสูงกว่าต้นทุนการผลิตในประเทศคู่แข่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยในส่วนของมาตรการลดต้นทุนการผลิต ที่ประชุมจะมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเรื่องการลดค่าไฟและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้บีโอไอลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 90% เป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าจะมีผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ.

    ในวันเดียวกัน นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้พิจารณาเรื่อง มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 8 โครงการเงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 27,838.4 ล้านบาทด้วย

รัฐเปิดสิทธินักลงทุนเขต ศก. 'หม่อมอุ๋ย' นำร่องตาก-สระแก้ว มีพื้นที่พร้อมรับธุรกิจ

   บ้านเมือง : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด มีความชัดเจนพอสมควร หากผู้ประกอบการใหม่สนใจลงทุนและเปิดบริษัทใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีสิทธิพิเศษทั้งการลดภาษีให้ครึ่งหนึ่ง เช่น จาก 20% เหลือ 10% และถ้าขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะไม่เรียกเก็บภาษีระยะเวลา 5-8 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงมหาดไทยจัดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยให้กรมธนารักษ์เปิดให้เช่าพื้นที่ราคาถูก ระยะเวลา 30-50 ปี เช่น สระแก้ว หากเช่าพื้นที่ดิบหรือยังไม่มีการถมที่ให้เช่าไร่ละ 32,000 บาทต่อปี ส่วนพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้เลยคิดไร่ละ 160,000 บาท ต่อปี แต่จะปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้น 15% ทุก 5 ปี ซึ่งกรมธนารักษ์จะประกาศค่าเช่าที่ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้มีผู้มาขอบีโอไอแล้ว 6 ราย เช่น ผู้ประกอบการทำลวด แปรรูปสินค้าเกษตร ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและมุกดาหาร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาและมีผู้จะขอบีโอไอเพิ่มอีกกว่า 10 ราย ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก่อนพื้นที่อื่น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและประเทศเพื่อนบ้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวอยู่แล้ว

    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพื้นที่ภาครัฐ 6 แห่ง เพื่อรองรับการเข้าดำเนินงานของภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยผู้ที่สนใจลงทุนสามารถยื่นเรื่องได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ โดยจะใช้เวลา 7 วันติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการเดินเรื่องให้ทั้งหมด

     ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง จะแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ภาคเอกชนและการลงทุนผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ที่สนใจต้องยื่นความจำนงขอใช้พื้นที่อย่างไร และยื่นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้า การพัฒนาสาธารณูปโภค และแผน วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะต้องมีหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้พื้นที่พร้อมทั้งพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของบริษัทนั้นและแผนปฏิบัติของบริษัทว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งระยะแรกจะเน้นการพัฒนาตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร

   นายอาคม กล่าวว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและกำลังคนเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งไทยได้มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายอุตสาหกรรม เพื่อที่จะวางแผนบริหารการทำงานร่วมกันตามแนวชายแดน ทั้งนี้จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนใน ซึ่ง สศช.ได้มีการประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ 2.กลุ่มนวัตกรรม 3.กลุ่มท่องเที่ยว 4.กลุ่มเกษตรและอาหาร 5.กลุ่มผู้ประกอบการยาง 6.กลุ่มนิคมอากาศยาน 7.กลุ่มดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8.ภาคบริการการศึกษานานาชาติ 9.กลุ่มศูนย์กลางสุขภาพ เช่น ด้านการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป การให้บริการส่งเสริมด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ มองว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะดำเนินการได้ คือ จ.ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะเป็น 2 พื้นที่หลัก นอกนั้นจะมีพื้นที่อื่น เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดบทบาทให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชอบกำกับดูแลนั้น ขณะนี้ที่ประชุม สนช.ได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว โดยมีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ 60 วัน และคาดว่าจะเสนอเข้า สนช.วาระต่อไปได้ในเร็วๆ นี้

    ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ จะช่วยส่งเสริมให้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการลดข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาใช้ เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้นำทรัพย์สินไปจำนองหรือจำนำเท่านั้น และการจำนองกฎหมายได้จำกัดประเภทของทรัพย์สินที่นำมาจำนองไว้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินมีทะเบียนบางประเภท

นายกฯ สั่งเร่งตั้งเขต ศก.พิเศษภายในปีนี้ มอบมท.ดูแลปัญหาที่ดินราคาสูง

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังเป็นเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจ ว่า ได้สั่งการให้ที่ประชุมฯ ไปเร่งขับเคลื่อนนโยบายตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ ซึ่งมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ปีนี้รวม 6 แห่ง ซึ่งพบว่ามีปัญหาในเรื่องที่ดินที่มีราคาสูงขึ้น โดยมอบหมายให้ รมว.มหาดไทย ไปดูแล

    ส่วนการกำหนดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะมีทั้งรัฐลงทุนเอง และให้เอกชนเช่าพื้นที่รัฐ ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งตนเองได้สั่งการให้จัดตั้ง Social Business เป็นศูนย์ที่ผู้ประกอบการต้องตอบสนองและดูแลสังคม โดยดำเนินงานคล้ายกับโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการดอยตุงที่ให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งจะเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

     นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องวิกฤตพลังงาน ปัญหาการจัดการขยะ รวมถึงการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดดำเนินการในทุกเรื่อง โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์เหล่านี้ทางรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการและสานต่อ แต่ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44  ในการขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ให้เร่งรัดตามกระบวนการปกติ เพราะต้องดูแลประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ

     ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐนตรี กล่าวว่า คาดหวังให้พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่แรกๆที่ภาคเอกชนจะให้สนใจเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภายในปีนี้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะการขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในทุกพื้นที่ได้ และคาดว่ากรมธนารักษ์จะสามารถประกาศอัตราค่าเช่าพื้นที่ระยะเวลา 30-50 ปี ในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ภายในสัปดาห์หน้า พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างอัตราค่าเช่าในแต่ละพื้นที่ เช่น จ.สระแก้ว หากมาเช่าพื้นเปล่า เปิดให้เช่าในอัตราไร่ละ 32,000 บาท/ปี ส่วนพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลยคิดในอัตราไร่ละ 160,000 บาท/ปี ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดให้เช่าในอัตราไร่ละ 36,000 บาท/ปี ส่วนพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลยคิดในอัตรา 160,000 บาท/ปี แต่จะมีการปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในทุกๆ 5 ปี โดยขณะนี้มีผู้มาขอบีโอไอแล้วจำนวน 6 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังพิจารณา และมีผู้จะมาขอบีโอไอเพิ่มอีกกว่า 10 ราย

     นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน และเปิดบริษัทใหม่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ทั้งการลดอัตราภาษีให้ครึ่งหนึ่ง เช่น จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 และถ้าขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ จะไม่เรียกเก็บภาษีระยะเวลา 5-8 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ

    ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่งนั้นจะมีทั้งภาคเอกชนและภาครัฐผ่านทางนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนต้องยื่นความจำนงขอใช้พื้นที่อย่างไร และยื่นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้า การพัฒนาสาธารณูปโภค และแผนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

    นอกจากนี้ จะต้องมีหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้พื้นที่พร้อมทั้งพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของบริษัทนั้นๆ และแผนปฏิบัติของบริษัทว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งในระยะแรกจะเน้นการพัฒนาตามเขตแนวชายแดน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ทั้งนี้เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและกำลังคนเป็นไปได้อย่างเสรี ซึ่งเรื่องนี้ไทยได้มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายอุตสาหกรรมเพื่อที่จะวางแผนบริหารการทำงานร่วมกันตามแนวชายแดน

    รมช.คมนาคม กล่าวว่า จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนใน ซึ่งทางสภาพัฒน์ฯได้มีการประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวใน 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ด้านยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ 2. กลุ่มนวัตกรรม 3. กลุ่มท่องเที่ยว 4.กลุ่มด้านเกษตรและอาหาร 5.กลุ่มผู้ประกอบการด้านยาง 6. กลุ่มนิคมอากาศยาน 7. กลุ่มดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8.ด้านภาคบริการการศึกษานานาชาติ และ 9.กลุ่มศูนย์กลางด้านสุขภาพ เช่น ด้านการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป การให้บริการส่งเสริมด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ

    รมช.คมนาคม กล่าวว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะดำเนินการได้ คือ พื้นที่ในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองจะเป็นสองพื้นที่หลัก นอกนั้นจะมีพื้นที่อื่นๆ เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา

   ด้าน พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในเรื่องการสนับสนุนการลงทุนทุกจังหวัด และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขั้นต้นมีทั้งหมด 6 พื้นที่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมาติดต่อที่ศูนย์ดำรงธรรมได้ เมื่อศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องไว้แล้วจะประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตามภายใน 7 วันจะมีคำตอบให้

    รมว.มหาดไทย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่จะใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะพิจารณาพื้นที่ของรัฐก่อน โดยดูว่าพื้นที่ใดจะให้เอกชนเข้ามาประมูลไปดำเนินการ หรือพื้นที่ใดที่จะให้การนิคมอุตสาหกรรมฯ เข้าไปดำเนินการ จะต้องพิจารณาในรายละเอียด และความเป็นไปได้ในผลความสำเร็จด้วย ส่วนพื้นที่ไหนที่มีชาวบ้านอยู่ก็ต้องเยียวยาให้

        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!