WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

World Bankเวิลด์แบงก์ จัดอันดับไทยที่ 49 ใน Doing Business 2016-สิงคโปร์ ยังครองแชมป์

   ธนาคารโลก รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี (Doing Business 2016) พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากภาพรวมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในลำดับที่ 49 ในรายงาน Doing Business ปี 2016 เมื่อเปรียบเทียบกับลำดับที่ 46 ในปี 2015 ซึ่งได้นำระเบียบวิธีใหม่มาปรับปรุงลำดับเพื่อการเปรียบเทียบที่สมบูรณ์ขึ้น

    ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่รายงาน Doing Business ได้พยายามใช้ระเบียบวิธีที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ และเพิ่มตัวเปรียบเทียบมาตรฐานซึ่งช่วยวัดคุณภาพของกฎระเบียบ รวมไปถึงประสิทธิภาพของกรอบกฎระเบียบทางด้านกฎหมายเพื่อช่วยให้การเก็บข้อมูลในการวิจัยสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นกว่าเดิม

   ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้คงอยู่ใน 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั่วโลก และติดอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

      ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการประกอบธุรกิจสำหรับนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ...ในอนาคต ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการที่ดินอย่างมีคุณภาพโดยการนำระบบดิจิตอลมาใช้ในระบบฐานข้อมูลที่ดินเพื่อความสะดวกในการสืบค้น การปฏิรูปนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางที่มีความก้าวหน้าในการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุนอย่างจริงจังตลอดหลายปีที่ผ่านมา" นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว

       ขณะที่ สิงคโปร์เป็นที่ 1 ของโลกติดต่อกัน 10 ปี  ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่ติด 20 อันดับแรกได้แก่ นิวซีแลนด์ (2) เกาหลีใต้ (4) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (5) ไต้หวัน (11) ออสเตรเลีย (13) และมาเลเซีย (18)

     นอกจากนี้ รายงาน Doing Business 2016: Measuring Quality and Efficiency พบว่า ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ 2 ในกลุ่ม 20 ประเทศแรกในด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจรองจากภูมิภาคยุโรป นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวยังได้มีการปฏิรูปเพื่อช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เอื้อต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วงปีที่ผ่านมา 52% ของ 25 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้มีการปฏิรูป 27 รายการเพื่อให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น

     ในกลุ่มประเทศที่ได้ทำการปฏิรูปกฎระเบียบนั้นพบว่า เวียดนาม (5) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (4) อินโดนีเซีย (3)  เป็นผู้นำการปฏิรูปในภูมิภาคนี้ อาทิ อินโดนีเซียได้มีการนำระบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาใช้และอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ ในเวียดนาม ผู้กู้สามารถตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อของตัวเองได้  และได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้ เพื่อขยายฐานข้อมูลของผู้กู้ให้ครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามที่มีประวัติทางการเงินดีมีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาอุนมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินสามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

     การจัดตั้งธุรกิจเป็นหัวข้อที่มีการปฏิรูปมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เมียนมาร์ได้มีการปรับปรุงเรื่องการจัดตั้งธุรกิจครั้งใหญ่ระดับโลก โดยการลดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทในประเทศ และปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานจัดตั้งธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้วิสาหกิจขนาดเล็กประหยัดเวลาและทรัพยากรอันมีค่า  บรูไนเดรุซาลามก็ได้มีการปฏิรูปขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคลด้วยเช่นกัน ทำให้การใช้เวลาในการจัดตั้งธุรกิจลดลงเหลือเพียง 14 วันจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 104 วันเมื่อปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงการดำเนินงานระบบออนไลน์ การทำให้ขั้นตอนการลงทะเบียนและกระบวนการหลังการจดทะเบียนง่ายขึ้น

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อก้าวไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีเลิศแล้วก็ตาม หากแต่ยังคงมีความท้าทายในเรื่องการแก้ไขปัญหาล้มละลาย การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการจดทะเบียนทรัพย์สิน  ตัวอย่างเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สิน ผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกใช้เวลาเฉลี่ย 74 วันในการถ่ายโอนทรัพย์สินเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ใช้เวลา 48 วัน

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!