WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ยุทธศาสตร์พัฒนาอ้อย-น้ำตาล สอน.รับลูกเปลี่ยนนาข้าวปลูกอ้อยสู้ AEC

       บ้านเมือง : เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เสนอยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ที่ประชุมคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า ขณะที่เตรียมพร้อมรับมือการเปิดเออีซี

วางยุทธศาสตร์พัฒนาอ้อย-น้ำตาล

     นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธาน ได้มอบให้ สอน.เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับผลจากการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยหรือไม่ แค่ไหน ก่อนจะนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป และประกาศเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศต่อไป

     โดยยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทรายฉบับนี้มีระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2567 โดยตั้งเป้าปี 2567 จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยทดแทนพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมาะสมประมาณ 6 ล้านไร่ จะเพิ่มพื้นเพาะปลูกอ้อยจากปัจจุบัน 10 ล้านไร่ เป็น 16.07 ล้านไร่ ผลผลิตทั้งประเทศจะเพิ่มจาก 103.68 ล้านตันต่อปี เป็นปีละ 182.04 ล้านตัน ส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายคาดว่าจะเพิ่มจากปีละ 11.29 ล้านตัน เป็นปีละ 20.36 ล้านตัน กำลังการผลิตดังกล่าวจะมีกากน้ำตาลเพิ่มเป็น 8.55 ล้านตัน จากปัจจุบัน 4.27 ล้านตัน สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตสุรา ผงชูรสและอื่นๆ ได้ประมาณ 1 ล้านตัน ส่วนที่เหลือใช้เป็นวัตถุดิบร่วมผลิตเอทานอลได้ 5.38 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 2.5 ล้านลิตรต่อวัน

      "กำลังการผลิตน้ำตาลทรายปี 2567 จะเพิ่มเป็น 20.36 ล้านตัน จะครอบคลุมความต้องการการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศ เป็นการบริโภคภายในประเทศ 3.56 ล้านตัน เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 2.5 ล้านตัน และใช้เพื่อการส่งออกอีก 16.8 ล้านตัน จากปัจจุบัน 8.8 ล้านตัน ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาท เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 แสนล้านบาท" นายสมศักดิ์ กล่าว

      สำหรับ ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทรายประกอบด้วย ด้านการผลิต ในระยะเร่งด่วน ต้องทำแผนขยายพื้นที่ปลูกอ้อยร่วมกับโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากชานอ้อย เร่งพัฒนาพันธุ์อ้อยกระจายพันธุ์ให้ทั่วถึง ส่วนในระยะสั้น ช่วง 1-3 ปี เพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีความพร้อม 8 แสนไร่ โดยเพิ่มผลผลิตเป็น 12 ล้านตันส่งเสริมการพัฒนาระบบจัดการน้ำขนาดเล็กในไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมาย พัฒนาระบบ การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

       ส่วนในระยะกลาง ช่วง 3-5 ปี ผลักดันให้มีการกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้ เอทานอลของประเทศ จัดตั้งสถาบันวิจัยอ้อยและน้ำตาลทราย ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อยและน้ำตาลต่างๆ กำหนดแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย การให้เงินเกี๊ยว หรือเงินบำรุงอ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ปลูกอ้อยรายใหม่ การประกันภัยพิบัติความเสียหายพืชผลทางการเกษตร สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส่วนแผนระยะยาว ช่วง 5-10 ปี เพิ่มสัดส่วนการผลิตอ้อยให้ทันสมัยในระบบโมเดลฟาร์มเพิ่มขึ้น และเพิ่มผลผลิตอ้อยอีก 30 ล้านตัน

       ด้านแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาคุณภาพน้ำตาลทราย และสร้างผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายชนิดต่างๆ รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การเก็บรักษาและขนส่งน้ำตาลทราย เช่น การพัฒนาขนส่งทางน้ำ ท่าเรือ และโกดัง ส่วนระยะกลางและระยะยาว จะต้องส่งเสริมให้เกิดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ ขยายการผลิตเอทานอล

เร่งเจรจาผู้ซื้อลดภาษีนำเข้าน้ำตาล

       ด้านการตลาด ในระยะเร่งด่วน จะเร่งเจรจาลดภาษีนำเข้า และเงื่อนไขทางการค้ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อให้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นเดียวกับที่ทั้ง 2 ประเทศนี้ให้กับออสเตรเลีย เจรจากับประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อลดภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้ข้อตกลงเออีซีภายในเดือน ม.ค.59 ขยายตลาดน้ำตาลทรายและเอทานอลในอาเซียน และเอเชียตะวันออก ส่วนระยะกลางและยาว จะเร่งเปิดตลาดน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์

      จากน้ำตาลชนิดต่างๆ ไปสู่ตลาดใหม่ เช่น คาบสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง ด้านบริหารจัดการ ในระยะเร่งด่วน จะพิจารณามาตรการในการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพี่อการปลูกอ้อย ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเพื่อรอง

     รับเออีซี ปรับปรุงกฎหมายการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลได้โดยตรง และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระยะกลาง จะต้องบริหารจัดการส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ส่วนระยะยาว จะส่งเสริมให้มีการส่งออกพลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ

ร่างยุทธศาสตร์อ้อย-น้ำตาล 10 ปี

      นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ สอน.ได้นำร่างยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ระยะเวลา 10 ปี (2558-2567) เสนอคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรรายพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาเบื้องต้นเห็นด้วยกับร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว

     โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2567 จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยจากพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมาะสม 6 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจากปัจจุบัน 10 ล้านไร่ เป็น 16.07 ล้านไร่ จะทำให้ผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจาก 103.68 ล้านตันต่อปี เป็น 182.04 ล้านตันต่อปี ผลผลิตน้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้นจาก 11.29 ล้านตันต่อปี เป็น 20.36 ล้านตันต่อปี

     ทั้งนี้ กำลังการผลิตดังกล่าวจะทำให้ได้กากน้ำตาลเป็น 8.55 ล้านตัน จากปัจจุบัน 4.27 ล้านตัน นำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตสุรา ผงชูรส และอื่นๆ ประมาณ 1 ล้านตัน เหลือกากน้ำตาล 7.55 ล้านตัน นำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลได้ 5.38 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกำลังการผลิตน้ำตาลทรายในปี 2567 จะเพิ่มเป็น 20.36 ล้านตัน จะครอบคลุมความต้องการน้ำตาลทรายของไทย ทั้งการบริโภคภายในประเทศ 3.56 ล้านตัน เพิ่มจากปัจจุบันที่มีความต้องการ 2.5 ล้านตัน และใช้ในการส่งออกอีก 16.8 ล้านตัน เพิ่มจากปัจจุบันที่ส่งออก 8.8 ล้านตัน รวมแล้วทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท

   อย่างไรก็ตาม ทางคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมในส่วนของการเปิดรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี โดยเฉพาะกรณีของราคาน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศควรจะอยู่ในอัตราใด หรือมีความจำเป็นต้องเปิดให้ต้องปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหรือไม่ โดยจะต้องให้ได้ ข้อยุติจากการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาต่อไป ส่วนจะมีการนัดหารือกับทางโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเมื่อใดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานของทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดวันและเวลาได้เมื่อใด

ปิ๊งลอยตัวราคาน้ำตาล

       นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายว่า จะยึดหลักกลไกตลาดให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและ ผู้บริโภค ดังนั้นราคาน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในประเทศก็ควรสะท้อนกลไกตลาด เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบจำหน่าย แต่ก็ต้องให้ฝ่ายโรงงานและชาวไร่อ้อยเห็นชอบเพื่อนำเสนอต่อ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริง

    "การปรับโครงสร้างจะต้องดูหลายอย่าง ทั้งการเพิ่มผลผลิต การจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูก การเปิดโรงงานก็จะต้องเป็นแบบเสรีหรือไม่ รวมถึงราคาน้ำตาลทรายที่ปัจจุบันราคาขายในประเทศกับราคาส่งออกมีความแตกต่างกัน โควตาน้ำตาลที่มีอยู่คือน้ำตาลทรายขาวบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ดิบส่งออก (โควตา ข.) และดิบหรือขาวส่งออก (โควตา ค.) ก็ต้องไม่มี ผมเองถามชาวไร่อ้อยว่ากฎหมายอ้อยใช้มา 30 ปี จะเลิกไหม ว่ากันเสรีไปเลย เขาก็บอกว่ายังแฮปปี้อยู่โดยเฉพาะระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 แต่ขอให้ปรับปรุง" นายจักรมณฑ์ กล่าว

     ส่วนระยะห่างโรงงานที่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเกณฑ์การตั้งโรงงานน้ำตาลทรายต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) แต่ปรากฏว่ามี 2 โรงงานที่จังหวัดสระแก้วที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เปิดดำเนินกิจการอยู่ จึงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับโรงงานเถื่อน เรื่องนี้คงจะต้องเร่งข้อยุติของ 2 โรงงานนี้ก่อน เพราะใกล้ฤดูเปิดหีบ ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าชาวไร่ก็คงจะมากดดันให้เปิดโรงงานเพื่อหีบอ้อย ไม่เช่นนั้นชาวไร่ก็จะเดือดร้อน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!