WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผนึกอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน

      สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ผลักดันโครงการศึกษาการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Cluster) โดยรวมกลุ่มผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการเกื้อหนุนตลอดจนส่งเสริมกิจการ เพื่อบรรลุเป้าหมายขีดความสามารถการแข่งขันที่ยั่งยืน

       ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงโครงการศึกษาการพัฒนารวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Cluster) และรูปแบบการเชื่อมโยงเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจร โดยในปี 2557 มอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นผู้ดำเนินการในการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งอาจจะประกอบด้วยธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ และสถาบันที่เกี่ยวข้องตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มารวมตัวดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (Geographic Proximity) เพื่อทำให้เกิดการร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร (Commonality and Complementary) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยความเชื่อมโยงในหลายมิติ (Multi-Dimensional) ซึ่งในแนวตั้ง จะเป็นความเชื่อมโยงของผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และความเชื่อมโยงในแนวนอน(Horizontal) จะเป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน

       ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะมีบทบาทต่อการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่าปีละ 500,0000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นมีการกระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งยังขาดการรวมตัวและการเชื่อมโยงกัน และจากสภาพปัจจุบันการรวมกลุ่มเครือข่ายของคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นเกิดจากการรวมกลุ่มเครือข่ายตามธรรมชาติทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงหน่วยธุรกิจมายาวนานและได้พัฒนามาหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ประกอบการแฟชั่นยังรวมกลุ่มแบบหลวมๆ และไม่เป็นทางการ ผู้ประกอบการในกลุ่มยังขาดความตระหนักถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกัน อีกทั้งยังขาดผู้นำที่สามารถประสานงานและช่วยเหลือสมาชิกให้เข้าใจในจุดมุ่งหมายของการรวมกลุ่มได้ ประเด็นปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดข้อมูลการศึกษาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น และแนวทางการพัฒนาที่ยังขาดทิศทางและไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการนี้จะทำให้มีข้อมูลด้านศักยภาพของเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย และฐานข้อมูลแผนที่เครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster Mapping) พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนา ส่งเสริม และการเชื่อมโยง เพื่อประโยชน์

       ในการวางแผนและกำหนดนโยบายสนับสนุนเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่นในแต่ละระดับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น และผู้เกี่ยวข้องสามารถมองเห็นภาพรวมและภาพกว้างของการดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์แฟชั่นในประเทศไทย รวมถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จะทำให้คลัสเตอร์แฟชั่นสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันเฉพาะทางและหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ อาทิ Cluster Development Agent (CDA) มีข้อมูลในการทำงานส่งเสริมและผลักดันการพัฒนา และเชื่อมโยงคลัสเตอร์แฟชั่นได้อย่างเหมาะสมและบูรณาการ ส่งผลให้อุตสาหกรรมแฟชั่นมีการเชื่อมโยงการรวมกลุ่มเครือข่ายแฟชั่นทั้งระบบ เกิดการพัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!