WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'เอสเอ็มอี'ไทยติดกับการเมืองอาการร่อแร่

เช็กชีพจร 'เอสเอ็มอี' ไทย ติดกับการเมืองอาการร่อแร่-ชี้ช่องดิ้นเอาตัวรอด : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน

    ภาคธุรกิจไทยมากกว่าร้อยละ 90 คือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสถานการณ์ไม่ปกติ ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ต้องเจอกับบททดสอบหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจากรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เงินบาทแข็งค่า และล่าสุดปัญหาวิกฤติการเมืองภายในประเทศที่ลากยาวมากว่า 4 เดือนแล้ว

   สถานการณ์ล่าสุดของ'เอสเอ็มอีไทย' ได้รับผลกระทบชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว การค้าและภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ โดย นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในย่านกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านที่มีปัญหาทางการเมืองค่อนข้างมาก เมื่อนักท่องเที่ยวลดลงไปก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น จำหน่ายของที่ระลึก และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมทั่วไปก็จะได้รับผลกระทบอีกทอดหนึ่ง เพราะเมื่อผู้บริโภคคนไทยมีความกังวลต่อเศรษฐกิจ ก็จะชะลอการบริโภค กระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าทั่วไปที่อาจมียอดขายลดลงไป

   "ขณะนี้เรายังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็เร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ต่างๆ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ รวมถึงจัดสัมมนาเพื่อให้คำแนะนำแก่เอสเอ็มอีว่า ในภาวะแบบนี้ที่อุปสงค์มีแนวโน้มลดลง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศและต่างประเทศ ผู้ผลิตสินค้าจะต้องปรับตัวอย่างไร โดยผู้ประกอบการต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว" นางอรรชกา กล่าว

  ทั้งนี้ กรมยังทำงานร่วมกับสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการจัดหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเบื้องต้น โดยประสานไปยังสถาบันการเงิน ทั้งที่เป็นธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ในการช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี โดยมาตรการเบื้องต้นนี้คาดว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ราว 2 หมื่นราย ซึ่งเอสเอ็มอีรายใดที่ต้องการความช่วยเหลือขอให้ไปลงทะเบียนกับ สสว.

ชี้การเมืองติดล็อกฉุดเอสเอ็มอีอ่วม

   นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การสำรวจครั้งล่าสุดของ ส.อ.ท. พบว่า เอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาทั้งยอดขายตก กำไรลดลง โดยความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัดลดต่ำลงอย่างมาก และแม้ว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่ตอบคำถามถึงประเด็นว่าจะทนกับสถานการณ์แบบนี้ไปได้อีกนานเท่าไหร่ แต่หากปัญหาการเมืองลากยาวไปถึงกลางปี ก็เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดกับเอสเอ็มอีก็น่าจะรุนแรงกว่านี้

   "สถานการณ์การเมืองขณะนี้ดูจะยังติดล็อก ไม่มีทางออก แต่หากลากยาวไปกว่านี้ไม่ดีแน่ เพราะแค่นี้เอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบหนักแล้ว หากยาวไปถึงกลางปีก็เชื่อได้ว่า หนี้เอ็นพีแอลในสถาบันการเงินก็น่าจะสูงขึ้นได้"

   นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ในภาคอีสาน 3-4 จังหวัด พบว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ เม็ดเงินการใช้จ่ายของภาครัฐไม่ลงในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง พบว่ายอดขายชะลอลงไปมากกว่า 30% และส่งผลต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการก่อสร้างให้ชะลอตัวตามไปด้วย ส่วนการท่องเที่ยวในภาคอีสาน พบว่ายอดขายหายไปกว่า 70% เนื่องจากปกติจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในภาคอีสานจำนวนมาก แต่ช่วงนี้ก็หายไป อาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่ต้องการท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หรืออาจจะไปอยู่ในสถานที่ชุมนุมต่างๆ ก็เป็นได้

   "นักท่องเที่ยวคนไทยที่หายไป ทำให้ร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว หรือร้านขายของที่ระลึก ร้านขายผ้าไหมในพื้นที่อีสานยอดขายหายไปเลย ร้านอาหารเงียบเหงามาก" นายธนิต กล่าวและว่า ส่วนในภาคเกษตรเอง ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวชาวนาในพื้นที่ภาคอีสานไม่ได้รับผลกระทบนัก แต่ก็ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ทำให้เกษตรกรมีความวิตกกังวลมาก

   อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีชายแดนติดกับด่านค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านยังถือว่าได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อจากประชากรของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก เช่น ด่านที่มุกดาหาร อุบลราชธานี หรือด่านแม่สอด จ.ตาก เป็นต้น

   นายธนิต กล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจต่างๆ นี้ถือเป็นห่วงโซ่อุปทานกับการส่งออกด้วย ซึ่งในอนาคตก็อาจกระทบกับการส่งออกให้ชะลอตัวลง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เอสเอ็มอีมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง เกิดปัญหาเรื่องการยืดหนี้แล้ว ส่วนที่จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของธุรกิจนั้นๆ จะมีสายป่านยาวแค่ไหน โดยความช่วยเหลือที่เอสเอ็มอีมีความต้องการในขณะนี้ ก็คือความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงิน การยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย แต่สถานการณ์ในขณะนี้ สถาบันการเงินของรัฐอาจจะดำเนินการได้ไม่เต็มที่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการสั่งการลงมา ส่วนธนาคารพาณิชย์เอกชน ความช่วยเหลืออาจจะไม่เต็มที่ เพราะเท่าที่ทราบแบงก์พาณิชย์เองก็สภาพคล่องตึงตัวเช่นกัน โดยปัจจุบันพบสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินออมอยู่ในอัตราสูงถึง 95% แล้ว

แนะช่องทางเอสเอ็มอีรักษาตัวรอด

   ด้าน นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบหนักที่สุดต่อเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากบริษัทใดไม่สามารถประคองตัวเองอยู่ได้ หรือปรับตัวไม่ได้ก็จำเป็นต้องปิดตัวลง หรือย้ายกิจการไปอยู่แห่งอื่นที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า

   "ในเมื่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ไม่มีความแตกต่างกัน และเมื่อตั้งอยู่ในต่างจังหวัดจะมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงกว่า บางธุรกิจก็ตัดสินใจอยู่ที่กรุงเทพฯ ดีกว่า ในช่วงนั้นหากเอสเอ็มอีรายใดสภาพคล่องไม่เพียงพอก็ตัดสินใจปิดตัวลง เพราะในช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์เองมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อพอสมควรด้วย อุตสาหกรรมที่ปิดตัวมากๆ เช่น กลุ่มผลิตรองเท้า และกลุ่มที่มีการแข่งขันจากต่างประเทศสูง"นายจิรวัฒน์ กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ปัญหารุมเร้าหนักๆ ต่อเอสเอ็มอีช่วงที่ผ่านมาเหมือนเป็นตัวกลั่นกรองเอสเอ็มอีไปในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้เอสเอ็มอีที่ยังคงดำเนินการอยู่มีความแข็งแกร่งพอสมควร โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อเอสเอ็มอีในกลุ่มส่งออกในปัจจุบัน ที่แม้ว่าคำสั่งซื้อสินค้าจะไม่เพิ่มขึ้นสูง แต่ก็จะได้กำไรเสริมจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ จะส่งกระทบในระยะยาวต่อภาคส่งออกแน่นอน หากปัญหาลากยาวไปเกินกว่าครึ่งปี เชื่อว่าจะเริ่มเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น ที่ลูกค้าจะเกิดความกังวลและไม่เชื่อมั่นว่าผู้ผลิตในไทยจะสามารถส่งสินค้าได้ทันกำหนดหรือไม่ รวมทั้งเมื่อไม่มีลูกค้าเดินทางเข้ามาสั่งซื้อสินค้าในประเทศ โอกาสในการขายสินค้าก็น้อยลง

    นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกร่อนตะแกรงมาระดับหนึ่งแล้ว หากถามว่าภายใต้สถานการณ์ปัญหาการเมืองไทยนี้ จะล้มหรือต้องปิดตัวไปอีกหรือไม่ มองว่ายังไม่ล้มในทันที แต่เอสเอ็มอีจะต้องตรึงสภาพคล่องทางการเงินของตัวเองให้ได้ไว้อย่างน้อย 6 เดือนนับจากปัญหาการเมืองยุติลง โดยมองว่ากลุ่มส่งออกไม่น่าจะมีปัญหา แต่กลุ่มที่จำหน่ายสินค้าภายในประเทศอย่างเดียวค่อนข้างจะเหนื่อยกว่า โดยกลุ่มที่เริ่มเห็นผลกระทบหนักคือ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งสินค้าเกษตรก็ติดขัด ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องปรับตัว

    ทั้งนี้ การที่ต้องตรึงสภาพคล่องให้นานอย่างน้อย 6 เดือน เพราะในความเป็นจริงแล้วเมื่อปัญหายุติ แต่การดำเนินการภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็อาจจะยังไม่ลงตัว โดยอย่าลืมว่าเอสเอ็มอียังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่มาก แต่เมื่อความช่วยเหลือจากรัฐยังมีไม่เต็มที่ก็ยังต้องพึ่งตนเอง

     "การที่ภาครัฐยังไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ ทุกอย่างก็นิ่ง และโจทย์ตรงนี้ทำให้เขาขยับต่อไปไม่ได้ ทั้งด้านตลาด การผลิต ยังต้องพึ่งข้อมูลองค์ความรู้จากภาครัฐ ไม่เหมือนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เขาจะมีอาร์แอนด์ดีเป็นของตัวเอง"

     นายจิรวัฒน์ แนะนำว่า การจะอยู่รอดได้คือ ต้องกลับมาดูตัวเองว่าใช้เงินผิดประเภทหรือไม่ เช่น ใช้เงินของบริษัทไปซื้อทรัพย์สินให้ตัวเอง หรือทรัพย์สินที่ไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ ซึ่งเอสเอ็มอีต้องแยกแยะเรื่องการเงินให้ถูกต้อง ต้องดูว่าค่าใช้จ่ายใดสมควรจะลดลงไปได้บ้าง ที่สำคัญคือ ผู้บริหารต้องอ่านงบการเงินให้เป็น ถ้าไม่เป็นขอให้ไปเรียนเพิ่มเติม เพื่อจะตรวจสถานะของตนเองให้ได้รู้ว่าในอีก 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้าจะติดปัญหาสภาพคล่องหรือไม่ เพื่อจะได้สามารถวางแผนการเงินล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที

   นอกจากนี้ ให้มุ่งเพิ่มยอดขายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตนเอง โดยกลับไปดูสินค้าที่ค้างอยู่ในสต็อกว่า ยังมีสินค้าใดเหลืออยู่บ้าง อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน หากต้องขายขาดทุนก็ขอให้นำออกมาขายขาดทุน เพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นเงินและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตนเอง จะได้มีเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งการเพิ่มสภาพคล่องในลักษณะนี้ ทำได้โดยมองวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่น สามารถใช้ช่วงนี้ที่อาจจะจำหน่ายของตามห้างขนาดใหญ่ไม่ได้ ก็ไปหาตลาดเล็กๆ ตลาดใหม่ๆ หรือจะใช้กลยุทธ์เป็นแบบกองโจร ส่งทีมไปขายสินค้าตามตลาดต่างๆ ชานเมือง จัดแนะนำสินค้า ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มแนวคิดทางการตลาดใหม่ๆ

    สำหรับเอสเอ็มอีตอนนี้ คือ ต้องคิดนอกกรอบ อย่าไปคิดหรือติดอยู่กับแบบเดิมๆ รวมทั้งต้องกระจายความเสี่ยง ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเสี่ยงได้อีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง เช่น ใครที่ไม่เคยส่งออกเลย ขายสินค้าในประเทศอย่างเดียว ก็น่าจะขยายไปตลาดส่งออกบ้าง

   "โจทย์ขณะนี้ คือ ไม่ใช่ของคนเก่ง หรือคนฉลาด แต่เป็นคนที่พร้อมจะปรับตัว และใครที่ปรับตัวได้เร็ว คนนั้นคือผู้ชนะ" นายจิรวัฒน์ กล่าวในที่สุด

(เช็กชีพจร 'เอสเอ็มอี' ไทย ติดกับการเมืองอาการร่อแร่-ชี้ช่องดิ้นเอาตัวรอด : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!