WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไฟเขียว 42 โรงงานสินเชื่อทุนหมุนเวียน วงเงินซื้อยางกว่า 6.7 พันล.

     แนวหน้า : นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 1 หมื่นล้านบาท ว่า ในขณะนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราประมาณ 42 ราย เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ และผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว มีวงเงินขอสินเชื่อรวมประมาณ 6.7 พันล้านบาท ซึ่งกระทรวงฯ จะรวบรวมรายชื่อส่งไปยังธนาคารกรุงไทยครั้งสุดท้ายในวันที่ 30 ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ หากมีวงเงินเหลือ ก็จะนำมาพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มกับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ มั่นใจว่าจะใช้วงเงินสินเชื้อได้ครบตามที่กำหนดไว้ 1 หมื่นล้าน

     "จากการประเมินจากทะเบียนโรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารามีจำนวนทั้งสิ้น 94 ราย แต่ผ่านการคัดเลือกประมาณ 42 ราย โดยผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นสูงกว่า 51% ทำให้ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด และบางส่วนไม่ต้องการกู้ ทั้งนี้คาดว่าท้ายที่สุดจะมีวงเงินสินเชื่อจะเหลืออยู่ราย 2-3 พันล้านบาท ซึ่งจะนำมากระจายให้กับโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มให้ครบจำนวน 1 หมื่นล้านบาท โดยจะพิจารณาตามศักยภาพการผลิตของเครื่องจักร และความสามารถในการเก็บสต็อกยาง" นายสมชาย กล่าว

    โดยหลังจากนี้ จะส่งรายชื่อโรงงานที่ผ่านการประเมินจากกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมดให้กับธนาคารกรุงไทย เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อในแต่ละรายต่อไป ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการทั้งหมดจะได้รับสินเชื่อภายในไตรมาส 1 ของปี 2558 โดยโครงการนี้คาดว่าจะดูดซับยางพาราส่วนเกินออกจากระบบได้ประมาณ 2 แสนตัน จะช่วยยกระดับราคายางพาราได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม มองว่าราคายางพาราในปีหน้าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากจะมีโรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่จากจีนเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพิ่มอีก 3-4 โรงงาน และยังมีการตั้งโรงงานและขยายกำลังการผลิตจากนักลงทุนไทยและชาติอื่นๆอีกหลายราย ประกอบกับคาดว่าราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ราคายางในตลาดโลกไม่น่าจะลดลงต่ำกว่านี้

                สำหรับ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางนี้ จะช่วยดูดซับยางพาราในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากที่สุด คือ ระหว่างเดือนพ.ย. 2557 – เม.ย.2558 เพื่อสนับสนุนโรงงานน้ำยางข้นให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นในการรับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรโดยรัฐจูงใจด้วยการชดเชยดอกเบี้ยอัตรา 3% แก่ผู้ประกอบการในวงเงินชดเชย300 ล้านบาท ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นสมควร โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่ผู้ขอเข้าร่วมโครงการมีสถานประกอบการตั้งอยู่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!