- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 09 April 2024 19:03
- Hits: 8939
วว. ขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา ศูนย์ข้อมูลทึ่ปรึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา ประเภทนิติบุคคล หมายเลข 656 ระดับ 1 สาขาสิ่งแวดล้อม สาขาอุตสาหกรรม สาขามาตรฐานคุณภาพ ด้าน ISO 9001 ด้าน GMP และด้าน มอก./ ISO / IEC 17025 สาขาการวิจัยและการประเมินผล ณ วันที่ 3 เมษายน 2567 จากการรับรองการขึ้นทะเบียนฯ โดย ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ วว. ได้ขึ้นทะเบียนฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2543 จวบปัจจุบัน โดยเป็นหนึ่ง 1 ใน 26 หน่วยงานที่ปรึกษาองค์กรของรัฐที่ได้ขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา ตามระเบียบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า “ที่ปรึกษาที่จะเข้าร่วมการเสนองานกับหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นที่ปรึกษาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีหนังสือรับรองจากศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาฯ ว่า ไม่มีที่ปรึกษาเป็นผู้ให้บริการในงานที่จ้างนั้น หรือเป็นงานจ้างที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศ...”
อนึ่งที่ปรึกษาคือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบอาชีพ ประกอบกิจการ หรือให้บริการคำปรึกษาหรือแนะนำทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม การศึกษาวิจัย เป็นต้น สำหรับความจําเป็นในการว่าจ้างที่ปรึกษา ประกอบด้วย 1) หน่วยงานไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพที่ต้องการเพียงพอ หรือจําเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความรู้หลายด้าน หรือเจ้าหน้าที่มีจํานวนไม่เพียงพอที่จะดําเนินงานได้เอง 2) หน่วยงานต้องการข้อคิดเห็นจากที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (Second Opinion) ซึ่งเสนอความเห็นได้อย่างอิสระและปราศจากอคติ เพื่อพิจารณาประกอบกับข้อคิดเห็นของบุคคลภายใน สําหรับเรื่องที่มีความสําคัญในระดับสูงหรือเพื่อให้การวิเคราะห์ปัญหามีแนวคิดที่ต่างจากแนวคิดในกรอบราชการ และ 3) หน่วยงานไม่ต้องการเพิ่มกําลังคน ทั้งนี้เนื่องจากงานนั้นมีเป็นครั้งคราว หรือหน่วยงานไม่สามารถเพิ่มกําลังคนได้เนื่องจากข้อจํากัดในด้านอัตรากําลัง
อย่างไรก็ตาม การว่าจ้างที่ปรึกษาจะต้องคํานึงถึงการใช้บุคลากรของหน่วยงานที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ และจะต้องคํานึงถึงการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรของหน่วยงานด้วย ทางหนึ่งที่อาจทําได้คือ การว่าจ้างที่ปรึกษาให้ทํางานร่วมกับบุคลากรของหน่วยงาน ในกรณีนี้หน่วยงานจะมีบุคลากรพร้อมในหลายด้าน แต่อาจขาดผู้ที่มีประสบการณ์มากพอที่จะเป็นหัวหน้าคณะทํางาน หรือขาดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000, “วว. JUMP” หรือที่ E-mail : tistr@tistr.or.th
4340