- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 06 November 2024 18:55
- Hits: 1272
รมว.เอกนัฏ เร่งหาแนวทางแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทย
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับผู้แทนกลุ่ม 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เพื่อรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในไทย และแนวทางแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก
โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันนโยบาย สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐและกระทรวงฯ ให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันสถานการณ์การซื้อขาย-ส่งออกเหล็กในไทยค่อนข้างประสบปัญหา มีอัตรากำลังการผลิตอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่เติบโต โดยทางสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้เสนอแนวทางเพื่อแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก จำนวน ข้อ คือ
1.มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ 2.การควบคุมสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 3.มาตรการห้ามตั้ง/ขยายโรงงาน เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และเหล็กแผ่นรีดร้อน 4.ส่งเสริมให้โครงการภาครัฐสินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป 5.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ 6.นโยบายส่งเสริมการใช้เหล็กในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐเอกชน (PPP) ต่อยอดมาตรการ Made in Thailand ซึ่งกระทรวงฯ จะนำข้อหารือ
ในวันนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเหล็กต่อไป
กลุ่ม 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิตเหล็กทรงแบนเหล็กทรงยาว ผู้ใช้/แปรรูปและสนับสนุนการผลิตเหล็กของประเทศไทย มีสมาชิกรวมกว่า 510 บริษัท ปริมาณจ้างงานกว่า 51,000 อัตรา ประกอบด้วย 1) สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี 2) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น 3) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน 4) สมาคมผู้เหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 5) สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 6) สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 7) สมาคมโลหะไทย 8) สมาคมพัฒนาสแตนเลสไทย 9) สมาคมชุบสังกะสีไทย 10) สมาคมหลังคาเหล็กไทย
กลุ่มอุตฯ เหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมเหล็ก เข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม ถกแก้วิกฤตเหล็กไทย
ส.อ.ท. พร้อมด้วย 10 สมาคมเหล็ก หารือร่วม รมว.อุตสาหกรรม เสนอ 7 แนวทาง แก้วิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทย หลังเผชิญสินค้าเหล็กจากจีนทุ่มตลาด กระทบโรงงานต้องแห่ปิดกิจการ "เอกนัฎ" ชี้ รัฐบาลเร่งผลักดันหลายมาตรการออกมาควบคุมดูแล
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม พร้อมนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมเหล็กไทย นำโดย นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก คณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้โลกเผชิญวิกฤตกำลังการผลิตเหล็กของโลกล้นเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีนซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอย ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศของจีนลดลง ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กในสัดส่วนสูงมากราวร้อยละ 58 ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน จีนจึงมุ่งส่งออกสินค้าเหล็กไปยังภูมิภาคหรือประเทศที่มีช่องโหว่ซึ่งจีนสามารถทุ่มตลาดได้
โดยในช่วง 9 เดือนแรก ประเทศจีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กแล้ว 81 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปี 2567 จีนจะส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดในรอบ 8 ปี ปริมาณสูงถึง 109 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าเหล็กจากจีนที่ส่งมายังประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มปริมาณมากกว่า 5.1 ล้านตัน และครองส่วนแบ่งปริมาณเหล็กนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 44 ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยมีการใช้กำลังการผลิต Production Capacity Utilization) ถึงขั้นวิกฤตต่ำกว่าร้อยละ 30 แล้วจนหลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไป
ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก จึงขอเสนอ 7 แนวทางบรรเทาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก ดังนี้
1. มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ โรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นต้น
2. มาตรการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon
3. การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป
4. มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ
5. นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและสามารถนำวัสดุต่างๆ มาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
6. นโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจากส.อ.ท. ว่าผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand หรือ MiT) ไม่เพียงแค่เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น โดยขยายไปยังโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public – Private Partnership หรือ PPP) และโครงการก่อสร้างของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) ด้วย
7. การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์และทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention หรือ AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty หรือ CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) แต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศไทยยังคงถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ยกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวและยืนยันว่าอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทยต้องสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ อย่างทันท่วงที โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็ต้องมีการปรับตัวรับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและประโยชน์ของประเทศชาติด้วย
ทั้งนี้ หลายข้อเสนอจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กบางประเภท การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อาคารโครงสร้างเหล็ก มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเศษเหล็ก รวมถึงการจัดการซากรถยนต์ เป็นต้น โดยจะเร่งรัดผลักดันมาตรการต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่เป็นพื้นฐานสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศไทย