- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 20 December 2024 12:21
- Hits: 2395
เปิดเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบของ Thailand Pavilion พร้อมอวดโฉมสายตาชาวต่างชาติ ในงานแสดงนิทรรศการระดับโลก WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568
ในปี 2568 เราจะได้เห็นประเทศไทยไปแสดงศักยภาพสาธารณสุขบนเวทีโลก ในงาน WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้น เพื่อให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมได้แสดงศักยภาพ ความก้าวหน้า ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศของตน รวมถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศในระดับสากล และอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน คือ การได้มาเห็นผลงานการออกแบบพาวิลเลียนของแต่ละประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งในแต่ละประเทศต่างก็รังสรรค์ออกมาให้เป็นสถาปัตยกรรมชั้นยอดเพื่อดึงดูดให้ผู้มาร่วมชมงานเข้ามาเยี่ยมชมในพาวิลเลียนของประเทศตน ซึ่งประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนที่ทุกคนต่างให้ความสนใจและตั้งตารอคอยที่จะได้ชมความวิจิตรงดงามของอาคาร
สำหรับอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ได้รับการจัดให้อยู่ในรูปแบบการก่อสร้างแบบ Type A หมายถึงประเทศที่ได้รับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเอง ทำให้สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรม รวมไปถึงศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ โดยในครั้งนี้มีชื่อว่า “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน”ได้ถูกนำมาใช้เป็น คอนเซ็ปต์หลักในการออกแบบ ซึ่งสถาปนิกที่ออกแบบคือ ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร ผู้ถ่ายทอดอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในมุมมองใหม่ที่แตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวว่า
“เวลาพูดถึงความเป็นไทยในมิติสุขภาพนึกถึงอะไรที่โด่งดังไกลระดับโลก ทุกคนนึกถึง สุขภาพไทย, การนวดไทย และเวลเนส (Wellness) ของไทย ที่มีความโดดเด่นและล้ำหน้ามากๆ ดังนั้นภาพที่เราเห็นเรื่องของเวลเนส (Wellness) คือ ความอ่อนช้อย เราอยากแสดงความอ่อนช้อยถึงความเป็น Medical Hub ของไทยที่พูดถึงเวลเนส (Wellness) ต่างๆ ได้ดี ในแง่ของมิติด้านสถาปัตยกรรมไทย เรานึกถึง “รูปทรงจอมแห” ซึ่งเป็นรูปทรงที่พูดถึงความอ่อนช้อยได้เป็นอย่างดี ในสมัยก่อนสถาปัตยกรรมไทยมักมีรูปทรงจอมแห และใช้เทคนิค “การย่อมุม” มาทำให้เกิดความอ่อนช้อย แต่ในขณะเดียวกัน ความอ่อนช้อย ต้องสามารถตอบสนองกับฟังก์ชั่นการใช้งานของพาวิลเลียนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ห้องเธียเตอร์, พื้นที่นิทรรศการ หรือแม้กระทั้งพื้นที่ขายสินค้า เป็นต้น ดังนั้นพาวิลเลียนจะต้องออกมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ทั้งตอบโจทย์และแสดงออกถึง ความเป็นไทยได้ นอกจากนี้ยังได้นำเทคนิคของสถาปัตยกรรมไทยในเรื่อง “ความสมดุลกันระหว่างด้านซ้ายและด้านขวา” มาช่วยแก้ปัญหาขนาดพื้นที่มีความแคบและยาว ซึ่งเราอยากให้พาวิลเลียนเป็นอาคารที่สมดุล ถ้าเราต้องทำอาคารที่สมดุลกัน เราต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 2 เท่า เพื่อจะเห็นอาคารที่สื่อสารถึงความเป็นไทยออกมาได้ เราจึงสร้างอาคารครึ่งเดียว แล้วใช้กระจกสะท้อนภาพ ทำให้เราเห็นอาคารครบส่วนทั้งหมด น่าจะเป็นเทคนิคสถาปัตยกรรมไทยที่เราคิดว่า จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยที่ครบถ้วนครับ”
ตำแหน่งที่ตั้งอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN อยู่ในพื้นที่ A13 โซน Connecting Lives โดยมีแนวคิดที่จะสะท้อนความเป็นไทยและศักยภาพสาธารณสุขไทยสู่สายตาของนานาชาติในหลากหลายมิติ ผ่านการตีความอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งมีทั้งความงดงามและอ่อนช้อยเพื่อสอดแทรกลงไปในอาคาร ด้วยการลดทอนองค์ประกอบของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณให้ผสานเข้ากับวิธีก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น ใช้เทคนิคย่อมุม ที่อยู่บนยอดอาคารมณฑป ซึ่งเป็นลักษณะ “ทรงจอมแห” เป็นรูปทรงของหลังคาสโลบลงแล้วยกขึ้นจากพื้น ให้ความรู้สึกราวกับลอยอยู่บนสรวงสวรรค์ และมีระดับสูงต่ำตามลักษณะการใช้งานของพื้นที่ภายใน เพื่อให้ใช้พลังงานและทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสอดแทรกลวดลายจักสานของ เฉลว มาประกอบเพื่อแสดงความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทย รวมทั้งการใช้สีสันและรูปแบบวัสดุแบบไทยๆ ที่มีความละเมียดละเอียดลออ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาด้านวัสดุ งานฝีมือ อันประณีต ทำให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ประยุกต์ใช้กับวัสดุและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่
ที่มาของอาคารทรงครึ่งจั่วอันโดดเด่น สะดุดตา มาจากความตั้งใจแรกที่ผู้ออกแบบ ได้นำความสมดุลของหน้าจั่ว แบบสถาปัตยกรรมไทยมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งอาคาร ซึ่งมีหน้าแคบและลึกยาว จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการลดทอนอาคารให้เหลือเพียงครึ่งจั่วและสร้างผนังกระจกสูงขนาบข้างอาคารยาวตลอดแนว เกิดเป็นเทคนิคภาพสะท้อน เมื่อมองจากด้านหน้าทางเข้าหลัก จะได้เห็นจั่วของอาคารที่สมบูรณ์น่าประทับใจ ในส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ได้นำ ประติมากรรม “เฉลว” ตัวแทนความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ คู่กับประติมากรรม ช้าง ตัวแทน ความอุดมสมบูรณ์ อายุยืนยาว และสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งยังมีมาสคอตนำโชค “น้องภูมิใจ” เป็นเสมือน ผู้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนอย่างอบอุ่น อีกทั้งเชื้อเชิญให้ผู้คนอยากเข้ามาเยี่ยมชมภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
สำหรับการออกแบบอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในครั้งนี้ ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมมาร่วมแสดงความคิดเห็น ประกอบไปด้วย
คุณนิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) ประจำ พ.ศ. 2544 กล่าวว่า “ผมเองรู้สึกตื่นเต้นครับที่ประเทศไทยเราจะได้ไปสร้างพาวิลเลียนระดับอินเตอร์เนชั่นแนลที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผมก็คอยติดตามข่าวเรื่องราวการออกแบบอยู่ตลอดเวลา พอได้เห็นแบบแล้วประทับใจครับ ผู้ออกแบบประสบความสำเร็จในแง่ของการดึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยออกมาได้ชัดเจน เป็นงานสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ไทยประเพณี เป็นโมเดิร์นไทยที่ออกมา ได้อารมณ์ ได้อัตลักษณ์ชัดเจน ด้วยการหยิบยกเทคนิคความเป็นไทยหลายๆ เรื่องมาใช้ เช่น ความโค้งของหลังคา, หลังคา ที่มุงด้วยเทคนิคของการย่อมุม รวมทั้งการแก้ปัญหาพื้นที่หน้างานที่หน้าแคบและลึกมากด้วยการสร้างอาคารครึ่งเดียว แล้วใช้คอนเซ็ปต์เรื่องเงาสะท้อนในกระจก ทำให้อาคารหลังนี้ดูเป็นอาคารเต็มสมบูรณ์ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีมาก ผมเชื่อว่าพาวิลเลียนนี้จะดึงดูดคนได้ เพียงแค่เดินผ่านก็สามารถดึงดูดคนให้หยุดมอง ทำให้คนอยากเดินเข้ามาชมภายใน ยิ่งเข้าไปใกล้ๆ ความเป็นไทยก็ยิ่งชัดเจนในหลายๆ เอกลักษณ์ และเชื้อเชิญให้เข้าไปชมในพาวิลเลียนครับ”
คุณประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก วาระ พ.ศ.2565-2568 กล่าวว่า “การออกแบบไทยแลนด์พาวิลเลียนในงาน WORLD EXPO 2025 ที่นครโอซากา ผู้ออกแบบทุกประเทศพยายามจะสื่อถึงตัวตนอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ผู้ออกแบบพยายามจะสื่อถึงตัวตนและอัตลักษณ์ของไทย แต่อาจจะไม่ได้สื่อแบบนำเอาตัวสถาปัตยกรรมไทยที่เป็นไทยประเพณี วัดวาอาราม หรือศาลาไทยมา แต่สื่อถึงความรู้สึกของเส้นสายที่แตกต่างกันออกไป จะเห็นว่าผู้ออกแบบพิจารณาในเรื่องของความเป็นไทยที่มีลักษณะที่สะท้อนถึงสัญลักษณ์หรือเป็นตัวแทน เช่น ความอ่อนช้อยของเส้นโค้ง รวมทั้งพื้นที่ของความเป็นไทยในรายละเอียดต่างๆ มาประกอบ เพื่อให้มองแล้วรู้สึก ถึงความเป็นไทยที่แตกต่างออกไปจากพาวิลเลียนของประเทศอื่น อีกทั้งผู้ออกแบบได้นำเทคนิคเงาสะท้อนมาแก้ปัญหาเรื่องขนาดของพื้นที่ตั้งพาวิลเลียน ด้วยการเอากระจกมาใช้ให้สะท้อนความเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบก็จะช่วยให้ความรู้สึกเห็นครบองค์ จะเห็นได้ว่าการออกแบบพาวิลเลียนของไทยในครั้งนี้นอกเหนือจากการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ในขณะเดียวกันยังแสดงถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการออกแบบของไทยด้วย ซึ่งไทยแลนด์พาวิลเลียนในงาน WORLD EXPO 2025 นับเป็นความแตกต่างจากทุกครั้งที่มาครับ”
คุณก่อเกียรติ ทองผุด สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย กล่าวว่า “เมื่อผมมองเห็นอาคารหลังนี้ครั้งแรกก็รู้สึกชื่นชมเป็นอย่างมาก เพราะผู้ออกแบบมีการนำสถาปัตยกรรมไทยมาใช้ รวมทั้งรูปทรงและวัสดุ โดยหยิบภาษาของเส้น ซึ่งเป็นเส้นที่สำคัญที่สุด เป็นเส้นครูในการออกแบบงานสถาปัตย์ออกมาใช้ อย่างรูปทรงหลังคาจอมแห โดยการใช้จั่วโค้งหวานลงไป เปรียบเสมือนการรักษาสุขภาพของเราว่าจะต้องรักษาอย่างไร จึงจะทำให้มีความสุข อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้วย การผสมผสานแบบนี้คล้ายกับว่าเป็นการแก้ปัญหาเชิงคลี่คลายที่ไปไกล กว่าที่นักออกแบบธรรมดาจะทำได้ ด้วยสีสัน โครงสร้างและเท็กซ์เจอร์ เกิดความแปลกใหม่ รู้สึกว่าเป็นการก้าวไปอีกขั้น ของการนำเสนอ ซึ่งผู้ออกแบบเก่งมากๆ นอกจากนี้การที่พื้นที่มีลักษณะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแนวยาว การออกแบบแนวสถาปัตย์ต้องทำกี่งสมมาตร จึงจะดูสวย ด้วยประสบการณ์ของผู้ออกแบบที่ต้องการจะให้โลกรู้ว่า ความเป็นไทยสามารถคลี่คลาย และคิดแนวใหม่ได้ โดยใช้รูปทรงเพียงครึ่งเดียวเพื่อให้ตอบโจทย์พื้นที่และความร่วมสมัย อีกทั้งผู้ออกแบบมีการทำแผงเป็นเส้นเพื่อแบ่งจั่วซ้ายขวา โดยใช้มุมมองของกระจกเป็นตัวสะท้อนของตัวอาคาร ทำให้ผู้มาชมอาคารจะเห็นภาพเป็น 2 จั่ว ดูแล้วสมมาตรขึ้น จะเห็นได้ว่าความสวยกับความเป็นประโยชน์มันมาสอดคล้องกันพอดี ผู้ออกแบบได้มีการยุบอีกส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดความท้าทาย หลายสิ่งหลายอย่างที่นักออกแบบซ่อนไว้ ได้เอาประโยชน์ของการคิดแบบโบราณมาผสมผสานทั้งเรื่องลม เรื่องแสง การพัดผ่านของน้ำ ต่างๆ แบบนี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นภูมิของช่างไทยโบราณ รูปทรงเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมของเรา ผู้ออกแบบได้หยิบยกออกมา รวมทั้งสีสัน และเส้นสายต่างๆ การใช้สีทอง การใช้กระจก ความร่วมสมัย จินตนาการผสมผสานเรื่องประโยชน์ใช้สอยในงานชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสุข ภูมิ สุขภาพ เวลเนส มันต้องสบาย ผ่อนคลาย รีแลกซ์”
ขอเชิญชวนทุกท่านสัมผัสเสน่ห์ของอาคารนิทรรศการไทย ในงาน WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม พ.ศ.2568 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวได้ที่
Website : https://thailandpavilionworldexpo2025.com/
Facebook : Thailand Pavilion World Expo 2025
Instagram : thailandpavilionworldexpo2025
YouTube : Thailand Pavilion World Expo 2025
Tiktok : thailandpavilion2025
X : THpavilion2025
Line Official: Thailand Pavilion
12470