- Details
- Category: SME
- Published: Sunday, 15 September 2024 22:01
- Hits: 9650
บสย.ร่วมประชุมกับ SMI สภาอุตสาหกรรมฯ หารือแนวทางบูรณาการ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs
บสย. ร่วมประชุมกับคณะกรรมการสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) หารือแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs โดยมีผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาสถาบัน SMI ร่วมให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางพัฒนาสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ณ ห้อง เอเวอร์กรีนคลับ โรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล กรุงเทพฯ
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในฐานะที่ปรึกษาสถาบัน SMI กล่าวว่า บสย. มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. โดยทำหน้าที่เป็น SMEs Gateway เชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อช่วยเหลือ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร
ปัจจุบัน บสย. มีโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 'บสย. SMEs ยั่งยืน' วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท ร่วมกับสถาบันการเงิน 18 แห่ง ช่วยเติมทุน เสริมสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. มุ่งช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระ และผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมตามภายใต้ยุทธศาสตร์ IGNITE THAILAND, ธุรกิจที่ดำเนินการในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ESG/BCG) และผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 - 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน เริ่มต้นตั้งแต่ 1 หมื่นบาท สูงสุด 40 ล้านบาท
นายสิทธิกร กล่าวว่า นอกจากให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว บสย. ยังมีลูกค้ากลุ่ม SME Champion ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนเติบใหญ่ ในหลากหลายสาขาทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้พร้อมถ่ายทอดโนฮาว และเคล็ดลับความสำเร็จต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs รายอื่นๆ โดย บสย. สามารถเชิญผู้ประกอบการต้นแบบเหล่านี้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับสมาชิกของสถาบัน SMI และสอท. เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกัน
“ปัญหาของ SMEs วันนี้ คือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนของ SMEs และลูกค้า บสย. ทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนคือ หน่วยงานภาครัฐต้องมีกลไกบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การช่วยเหลือ SMEs อย่างครบวงจร เปรียบเสมือน One Stop Service เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ”
นอกจากนี้ ยังต้องเน้นสร้าง Mindset ที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ ยกตัวอย่าง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่เป็นลูกค้า บสย. ผ่านโครงการ 'บสย. พร้อมช่วย' ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระหนี้ และให้เกิดการบริหารจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาผู้ประกอบการ SME ไทย ยังจำเป็นต้องสร้างการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากความร่วมมือพัฒนาของทุกภาคส่วนในประเทศ ทำให้ธุรกิจ SMEs ของไทยเริ่มมีการปรับตัว แต่ SMEs ไทยต้องพร้อมพัฒนา และยกระดับขึ้นมาสู่การเป็น Smart SMEs โดยเน้นความสำคัญการพัฒนายกระดับใน 4 ด้าน ได้แก่ Go Digital & AI, Go Innovation, Go Global และ Go Green
นอกจากนี้ สอท. ยังได้นำเสนอมาตรการช่วย SMEs ไทยโดยให้ภาคเอกชนให้ความร่วมมือ ในการซื้อสินค้า Made in Thailand โดยจะมีมาตรการให้ภาคเอกชนได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากการส่งเสริมการซื้อสินค้าแบรนด์ไทยด้วย
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบัน SMI กล่าวขอบคุณผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาสถาบัน SMI ที่ได้เข้าร่วมให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางพัฒนาสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทยในครั้งนี้ ซึ่งสถาบัน SMI จะได้นำข้อแนะนำเหล่านี้ไปดำเนินการต่อไป