- Details
- Category: SME
- Published: Thursday, 31 October 2024 16:51
- Hits: 1485
สสว. ทำงานเชิงรุก ติดตามความคืบหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการ EEC ในพื้นที่ต่อเนื่อง หวังช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต ยกระดับรายได้
สสว. ทำงานเชิงรุกยกทีมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จัด กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ฯ หวังช่วยยกระดับธุรกิจชุมชน ลดต้นทุนกระบวนการทำงาน เพิ่มรายได้ พร้อมเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในระดับประเทศต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะ สสว. ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการส่งเสริมผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ และเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ ซึ่ง สสว. ได้เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการในกิจกรรมดังกล่าว และได้มีการติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการแรก “คุณยายยกกำลังสอง” โดย นางสาวเทพศิริวัช เปียสวน จาก อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ผลิตภัณฑ์ข้าวกรอบหน้าทุเรียน มังคุดอบน้ำผึ้ง ปูอบโอ่ง 3 รส ขนมปังกรอบไส้มังคุด ที่ผ่านมาพบปัญหา ตู้อบเดิมของผู้ประกอบการเป็นตู้อบที่ใช้พลังงงานความร้อนจากแก๊ส แอลพีจี ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิของตู้อบทำได้ยาก เกิดความร้อนในตู้อบไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดการไหม้ของสินค้า กลายเป็นของเสียในกระบวนการผลิต เมื่อทราบปัญหา ทีมที่ปรึกษาจาก สสว. ได้เข้ามาให้คำแนะนำปรับปรุงกระบวนการผลิต และร่วมกับผู้ประกอบการทำการปรับปรุงตู้อบให้เป็นระบบการให้ความร้อนจากฮีตเตอร์ไฟฟ้า และใช้อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติ เพื่อจะสามารถตั้งอุณหภูมิของตู้อบให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์
เมื่อผู้ประกอบการได้มีการแก้ไขตามคำแนะนำแล้ว ทำให้กระบวนการผลิตมีมาตฐาน ทั้งยังช่วยลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้ ผลลัพธ์ที่ได้ สามารถช่วยลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตลงได้ คิดเป็น 50,000 บาท/ปี
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามผลความคืบหน้าอีกหนึ่งผู้ประกอบการ คือ นางสาวณัชชารีย์ วังศิริไพศาล จาก ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี ร้านบ้านเล็กๆ ในซอยลึกลับ Hidden Gem ผลิตภัณฑ์ แยมกุหลาบ และสับปะรดอบแห้ง ปัญหาที่พบก่อนหน้านี้ คือ ผู้ประกอบการมีการผลิตขนมปังและเบเกอร์รี่ และมีการขยายการผลิตเพิ่มเติม โดยมีการผลิตแยมจากผลไม้และดอกกุหลาบ แต่ในกระบวนการผลิตยังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตที่เหมาะสม จึงทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการผลิต และไม่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้เกิดของเสียในกระบวนการผลิต
เมื่อทราบถึงปัญหา ทีมที่ปรึกษา สสว. ได้ให้คำแนะนำการปรับปรุงกระบวนการผลิต และร่วมกับผู้ประกอบการปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิของแยมผลไม้ในกระบวนการผลิตให้เหมาะสมในการบรรจุเพื่อลดโอกาสของเสียที่เกิดขึ้น พร้อมแนะนำให้ใช้เครื่องบรรจุแบบอัตโนมัติในกระบวนการบรรจุแยมใส่ขวด เพื่อลดเวลาในกระบวนการผลิต และให้กระบวนการบรรจุมีมาตรฐาน น้ำหนักถูกต้องตามฉลากที่ติดข้างขวด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตได้
ผลการปรับปรุงแก้ไข พบว่าสามารถช่วยลดของเสียและการสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตลงได้ คิดเป็นมูลค่า 60,000 บาท/ปี และลดต้นทุนค่าแรงงานในกระบวนการผลิตได้ถึง 30,000 บาท/ปี
เหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรรม ที่สะท้อนความมุ่งมั่นของ สสว. ที่ยังคงเดินหน้าส่งเสริม พัฒนาสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง
10808