- Details
- Category: Logistics
- Published: Friday, 29 September 2023 17:46
- Hits: 2700
บพข. Kick-off โปรเจคพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นกลางทะเลโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำลดต้นทุนค่าน้ำมันกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดตัวโครงการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์ม มุ่งเป้าแก้ pain point ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการขนถ่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขนส่งสินค้าทางน้ำนั้นมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและระบบการค้าของไทย จากข้อมูลการขนส่งสินค้าทางน้ำบริเวรเมืองท่าชายทะเลของประเทศไทยปี 2564 โดยกรมเจ้าท่า พบว่า การขนส่งสินค้ามีปริมาณสินค้ารวมทั้งสิ้น 362.009 ล้านตัน ส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางเรือมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์เกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำและความสามารถในการแข่งขันในการขนส่งสินค้าทางเรือภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางลำน้ำโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าเทกองในปัจจุบันมีต้นทุนโลจิสติกส์สูง โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งและการขนถ่ายสินค้าที่เกาะสิชัง ซึ่งเป็นบริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าในการนำเข้าส่งออกสินค้าเทกอง จากข้อมูลในปี 2564 ประเทศไทยมีการขนส่งที่เป็นสินค้าเทกองปริมาณกว่า 48.96 ล้านตัน เช่น ข้าว ผลผลิตทางการเกษตร อาหารสัตว์ น้ำตาล แร่ธาตุ แร่เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ปิโตเลียม ดิน หิน ทราย ปุ๋ย เป็นต้น และมีมูลค่าต้นทุนในการขนส่งสินค้าทางน้ำกว่า 234.4 พันล้านบาท (ข้อมูลจาก สศช.) นอกจากนี้ยังพบว่าสถิติมูลค่าต้นทุนโลจิสติกส์มีแนวโน้มเพิ่มพขึ้นทุกปี (ข้อมูลจากปี 2555 – 2564) จากปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ซึ่งในการขนถ่ายสินค้าเหล่านี้ต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องจักรที่จำนวนมากและมีต้นทุนที่สูง อีกทั้งมีการใช้เชื้อเพลิงและมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายเป็นในอัตราที่สูง จากการขาดข้อมูลที่จำเป็นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการขนถ่ายสินค้า ในปัจจุบันการดำเนินงานการขนถ่ายสินค้าเทกองนั้นยังไม่มีการบันทึกและวิเคราะห์พลังงานที่ชัดเจน อีกทั้งมีความล่าช้าและใช้เวลาในการบันทึกข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณการผลิตไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าของเครนแต่ละตัวในการขถ่ายสินค้าแต่ละชนิด เนื่องจากระบบการขนถ่ายสินค้าเป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ มี transaction ของข้อมูลจำนวนมากที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการขนถ่ายสินค้าอยู่กลางทะเลที่อาจจะไม่สะดวกต่อการเก็บและรวบรวมน้อมูล จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำข้อมูลที่ถูกต้องมาวางแผนการขนถ่ายสินค้าได้อย่างมีปะสิทธิภาพ ซึ่งก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน และนำมาซึ่งต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงได้
จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ หัวหน้าโครงการ จึงได้ทำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับการวัดตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในการขนถ่ายสินค้าเทกอง และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นปัจจุบัน (Real time) ร่วมกับ การใช้ระบบซอฟต์แวร์ในการจัดลำดับการขนถ่ายสินค้าของเรือ และพัฒนา ระบบฐานข้อมูล (Database) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการใช้พลังงานขนาดใหญ่ (Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system ที่สามารถปรับปรุงข้อมูลตัวชี้วัดด้านโลจิสติกส์ให้เป็นปัจจุบัน (real time) และสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ประกอบการสามารถดูผ่านหน้า dashboard ของระบบ mobile ได้อย่างเป็นปัจจุบัน ภายได้การสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและร่วมให้ทุน คือ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด โดยได้มีการจัดกิจกรรม kick-off โครงการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า “การเพิ่มขีดความในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของ บพข. สาระสำคัญที่เราจะต้องทำก็คือการทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการ kick-off โครงการในวันนี้จึงเป็นภารกิจหนึ่งที่ บพข. จะต้องทำเพื่อเชื่อมโยง (connect) ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน และสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน (collaboration) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตรงนี้ บพข. ได้ให้ทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เพราะฉะนั้นในการทำงานวิจัยจะต้องมีการ create โครงการที่จะสามารถตอบ pain point และตอบ demand driven ของภาคธุรกิจได้ ซึ่งหัวข้อโครงการนี้ได้อยู่ในแผนงานโลจิสติกส์และระบบรางของ บพข. และโครงการนี้จะต้องถูก converse ไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่เราให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้คือการขนส่งที่ประหยัดและลดการใช้พลังงาน เราจึงคาดหวังว่าในการทำงานครั้งนี้จะทำให้เราได้แพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ที่ดี และได้การจัดการโลจิสติกส์ที่ดี อันนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต และทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ หัวหน้าโครงการได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า “เราได้รับโจทย์มาจากบริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ซึ่งประสบปัญหาในการไม่สามารถควบคุมการใช้พลังงานสำหรับการขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีระบบการตรวจวัด และประเมินอัตราการน้ำมันดีเซลเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับการทำงานของเครนที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้าแต่ละชนิดได้ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อต้นทุนของการประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งจุดนี้เองก็เป็น pain point ของผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำรายอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้นเราจึงมีแนวคิดในการพัฒนาระบบ Software การจัดสรรเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเข้าแต่ละทุ่น และระบบการตรวจวัดอัตราการใช้พลังงานในขนถ่ายสินค้าเทกอง และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นปัจจุบัน (Realtime) โดยใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technologies) รวมทั้งยังมีการจัดทำระบบฐานข้อมูล (Database) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการใช้พลังงานขนาดใหญ่ (Big data) และระบบ Monitoring and Tracking system เพื่อให้การบริหารจัดการการใช้พลังงานสำหรับงานขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดต้ำทุนให้แก่ผู้ประกอบได้ไม่น้อยกว่า 5 - 10% และผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะถูกนำไปขยายผลใช้กับบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังต่อไปด้วย”
ระบบวัดบันทึกปริมาณการใช้น้ำมัน
ผู้ที่มาร่วมโครงการในครั้งนี้มีทั้งจากภาคส่วนของการขนส่งทางลำน้ำโดยตรง และส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (value chain) ของการขนส่งทางน้ำ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจคลังสินค้า เพราะฉนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ ผู้ที่อยู่ในธุรกิจขนส่งทางลำน้ำ โดยตรงสามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งแผนที่ทีมวิจัยมองไว้คือการเข้าไปที่สมาคมซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 60 บริษัท และมีความสนใจมาก เนื่องจากเป็น pain point ของผู้ประการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจนี้โดยตรง เช่น คลังสินค้าต่างๆ ได้ให้สนใจในเรื่องระบบ big data และระบบซอฟแวร์การบริการจัดการ ซึ่งทีมวิจัยได้ทำเป็น module ไว้แล้วเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้แบบ standalone ได้เลย
ระบบตรวจวัดข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้า
สำหรับการลดพลังงาน ศ.ดร.กาญจนา เล่าว่า ลูกค้ามีความต้องการเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นทีมวิจัยจึงมีแผนในการติดโซล่าเซลล์ที่ทุนขนถ่ายสินค้าในเฟสถัดไปของการดำเนินโครงการ เนื่องจากที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ามีการใช้พลังงานตลอด 24 ชั่วโมง และพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายหลักของการดำเนินกิจการ เพราะการคิดราคาน้ำมันนั้นจะไม่เท่ากับราคาบนฝั่ง แต่ยังมีค่าขนส่งที่ต้องนำไปเติมที่กลางทะเลซึ่งทำให้เพิ่มต้นทุนเข้ามาอีกมากมาย ทีมวิจัยจึงมองว่าการติดโซล่าเซลล์จะช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้ เพราะสามารถได้ไฟฟ้าโดยตรงและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าไปที่อุปกรณ์ต่างๆ ในทุ่นได้โดยตรงด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมองไปถึงการขยายผลไปสู่เรือลากจูงที่เข้ามารับสินค่าและส่งสินค้าด้วยเช่นกัน
ระบบตรวจวัดข้อมูลพลังงานจากเครน
“เราพยายามมองให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ในแง่ของการลงทุนของภาคธุรกิจและในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในแง่ของ carbon neutral โดยมีการคำนวณว่าการลดการใช้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไร่ และเราจะพยายามใช้น้ำมันซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด และเป็นไปใช้พลังงานสะอาดแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยภาคธุรกิจในการประหยัดพลังงานแล้วยังสามารถช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในแง่ของมลพิษทางอากาศและเสียงรบกวนอีกด้วย” ศ.ดร.กาญจนา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนาย วรเทพ สุวจนกร นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ และรองประธานกรรมการ บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ได้พูดถึงสาเหตุที่มาร่วมลงทุนกับโปรเจคนี้ว่า “ปัจจุบันทางบริษัทยังไม่สามารถหาแนวทางในการบริหารจัดการต้นทุนที่เกิดจากการใช้น้ำมันเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับการทำงานของเครนที่ในการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล จึงได้ปรึกษากับทาง ศ.ดร.กาญจนา และเป็นที่มาของการร่วมงานกันครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนทุน ซึ่งเราคาดหวังว่าหากโครงการนี้สำเร็จจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานงานในขนถ่ายสินค้าได้ไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท”
โครงการนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับระบบโลจิสติกส์ของประเทศที่ทันสมัย และได้มาตรฐานสากล จาก บพข. ซึ่งมี บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วม โดยโครงการดังกล่าวได้ถูกพัฒนาต่อยอดเพื่อการขยายผลการดำเนินงานใน “โครงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นที่ปรึกษาให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อจัดทำแผนการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งให้กับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ โดยมี บริษัท เอส.พี.อินเตอร์ มารีน จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯ ของ พพ.
การสนับสนุนทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การขนถ่ายสินค้าเทกองที่ทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลโดยใช้ระบบสารสนเทศและดิจิทัลแพลตฟอร์มในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสำหรับระบบโลจิสติกส์ของประเทศที่ทันสมัย รวมถึงจะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง บพข. และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมงานต่อไป ซึ่ง บพข. คาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้าน การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ และการขนถ่ายสินค้า โดยจะสามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป
A91065