- Details
- Category: Logistics
- Published: Sunday, 10 March 2024 16:28
- Hits: 10226
กทท.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘โครงการการพัฒนา Sustainable Development Goals (SDGs) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย’
สถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (Maritime Logistics Institute : MLI) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘โครงการการพัฒนา Sustainable Development Goals (SDGs) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย’เพื่อนำเสนอความรู้ที่สำคัญ พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนตามนโยบายของประเทศและสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘โครงการการพัฒนา Sustainable Development Goals (SDGs) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย’ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ กทท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความรู้ที่สำคัญ พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนตามนโยบายของประเทศและสหประชาชาติ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของ กทท. ดังที่กล่าวไว้ว่า “มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573” โดยมี ผู้บริหาร พนักงาน กทท. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.
สำหรับ การจัดกิจกรรมฯ ได้แบ่งการบรรยายเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ ‘Mix for Sustain’ การบริหารการจัดการพลังงานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร และหัวข้อ “PAT GO GREEN” สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ซึ่ง กทท. ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้การบรรยาย ได้แก่ ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงาน คุณนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน คุณกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (กิจการองค์กร) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) คุณณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย คุณธีรพงศ์ สังขอินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ จำกัด และคุณศกยง พัฒนเวคิน ผู้ก่อตั้งบริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า “ในการพัฒนา กทท. ร่วมกับภาคพันธมิตรดำเนินการตามภารกิจของประเทศตามกรอบ SDGs ซึ่งให้ความสำคัญกับ 5 มิติ (5P) ประกอบด้วย การให้ความสำคัญด้านสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) ความสันติภาพและยุติธรรม (Peace) และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
ทั้งนี้ กทท.ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก โดยมีการพัฒนาท่าเรือเพื่อมุ่งสู่การเป็น Green port ชั้นนำของโลก โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี พลังงานสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ การติดตั้งหลังคาโซลาเซลล์ การใช้รถยกไฟฟ้า การจัดกิจกรรมปลูกป่า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยซับคาร์บอน และลดปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบันได้ด้วย
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การจัดงานสัมมนาฯ ในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานระหว่างภาคธุรกิจ ซึ่ง กทท. มีความพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรฯ ทุกท่านไปใช้พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมภารกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศต่อไป
ด้าน ดร.วีรพัฒน์ฯ บรรยายถึง ‘สถานการณ์พลังงานและแผนการบริหารจัดการพลังงานของประเทศไทย’ โดยสำนักนโยบายและแผนพลังงานได้วางเป้าหมายให้สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน
โดยได้ดำเนินการตามแนวทางทีเรียกว่า นโยบาย 4D1E ประกอบด้วย Digitalization, Decarbonization, Decentralization, De-Regulation, และ Electrification ซึ่งจะครอบคลุม 5 ด้านหลัก คือ ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีการวางแผนทิศทางตามนโยบาย เพื่อมุ่งสู่ Energy Transition รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
และนายรองเพชร บรรยายเพิ่มเติม ในหัวข้อ “การป้องกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) และมาตรการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ประเทศไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 22 ของโลก และได้รับผลกระทบจากการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 9
ประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดนโยบาย 3 เป้าหมายขึ้น ได้แก่ 1. ปี 2030 ลดก๊าซเรือนกระจก 30 – 40% 2. ปี 2050 ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 3. ปี 2065 ก้าวสู่ Net Zero ดังนั้นการผลักดันลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก้าวเข้าสู่ Net Zero ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนการบริหารจัดการต้องเกิดการปรับตัวหรือใช้กลไกต่างๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
กทท. ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมพัฒนาท่าเรือให้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ภายใต้นโยบายท่าเรือสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน