WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'หูกวาง' เดินหน้าเวิร์คช็อประดมสมองต่อยอดยุทธศาสตร์ระบบขนส่ง

    บ้านเมือง : การคมนาคมขนส่งปัจจุบันนั้นถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คช็อป เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะรวบรวมรายละเอียดทั้งมาต่อยอดแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน

    พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช็อป) ว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดการสัมมนาดังกล่าวออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย งานด้านการคมนาคมขนส่งทางบก งานด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศ และงานด้านการขนส่งทางน้ำ โดยมีการพิจารณาตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งไทยตามระยะเวลาที่กำหนดคือแผน 10 ปี ซึ่งการเวิร์คช็อปในครั้งแรกนั้นจะเริ่มจากการขนส่งทางบกได้มีการพิจารณาแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลา 8 ปี (ปี 2558-2565) ซึ่งพบว่าต้องมีการปรับปรุงแผนงานด้านการขนส่งทางบกบางประเด็น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด แต่มีความชัดเจนในเรื่องวงเงินลงทุนแล้วว่าปี 2558-2559 จะใช้เงิน 66,025.79 ล้านบาท และรวม 10 ปี จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาการขนส่งทางบกทั้งสินค้าและผู้โดยสารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

    ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าว่าจะต้องลดต้นทุนด้านการขนส่งทางบกลงจากเดิม 15.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เหลือ 13% ของ GDP พร้อมทั้งลดสัดส่วนการใช้รถส่วนบุคคลลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 50% ให้เหลือ 40% ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพจูงใจผู้ใช้บริการ นอกจากนี้จากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าพบว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งกระทรวงฯ จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้นต้องเร่งแก้ปัญหาสะสมด้านการให้บริการ รวมทั้งปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ที่มีความทรุดโทรมให้มีมาตรฐาน โดยตั้งเป้าว่าในปี 2558-2559 การให้บริการด้านขนส่งสินค้าทางรถไฟต้องมีความรวดเร็วขึ้นจาก 39-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 55-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน เป็น 75 ล้านคน

    อย่างไรก็ตาม ส่วนการเวิร์คช็อปแนวทางการแก้ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศนั้น ได้มีการพิจารณาแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานหลักของประเทศเพื่อขยายขีดความสามารถ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีความชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการลงทุนโครงการพัฒนาเฟส 2 วงเงิน 62,503.24 ล้านบาทแน่นอน และอาจเพิ่มการลงทุนอีก 2 แผนงาน คือ การก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 วงเงิน 19,000 ล้านบาท และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Multi-Function Terminal) ด้านทิศเหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 24,000 ล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินลงทุน 1.05 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังคณะทำงานได้ข้อยุติการพิจารณา

    รายละเอียดแผนลงทุนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว กระทรวงคมนาคมจะบรรจุลงในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของกระทรวง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน คาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคาได้ช่วงต้นเดือนมกราคม 2558

   ขณะที่ปีงบประมาณ 2558 กระทรวงฯ มีแผนใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการขนส่งทางอากาศใน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย AOT สถาบันการบินพลเรือน และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด รวม 24,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่กระทรวงคมนาคมที่แผนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดพัฒนาความสามารถ และก่อสร้างท่าอากาศยานภูมิภาคเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง เพื่อรองรับการเดินทางในบางจังหวัดที่มีความต้องการแต่ไม่มีท่าอากาศยาน และรองรับการเดินทางเชื่อมต่อชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากการพิจารณาเบื้องต้น ประกอบด้วย 1.อ.เบตง จ.ยะลา 2.ขยายพื้นที่ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก 3.อ.เริงนกทา จ.มุกดาหาร 4.จ.อุตรดิตถ์ 5.จ.กาญจนบุรี และ 6.อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดอีกประมาณ 1-2 เดือน

    นอกจากนี้ สำหรับการเวิร์คช็อปด้านการขนส่งทางน้ำนั้น ได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการขนส่งทางน้ำด้วยงบประมาณเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 เริ่มโครงการ 2559-2568 ระยะเวลา 10 ปี กรอบงบประมาณรวม 76,666 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 การจัดตั้งศูนย์ขนส่งสินค้าแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ในลักษณะเชื่อมต่อเป็นแลนด์บริดจ์กับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 โดยมีระบบทางรถไฟและถนนเชื่อมระหว่าง 2 ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าระบบขนส่งอื่น โดยในปี 2559 มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน จาก 15% เป็น 19% โดยลดต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยเป็น 1.75 สตางค์/กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่ายังมีโครงการสำคัญ ประกอบด้วย การขุดลอกร่องน้ำทั้งในแม่น้ำและทะเล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือ การปรับปรุงท่าเรือโดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้มีความปลอดภัย และสะดวกสบาย การใช้พัทยาโมเดล เพื่อปรับปรุงท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวทั่วประเทศ

    ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูลนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้นขณะนี้ผ่านแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจะใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนโครงการท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพกับชุมชน (HIA) ใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท และการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ ประมาณ 6-7,000 ล้านบาท ยังไม่รวมงบประมาณในการพัฒนาเส้นทางถนน คู่ขนานกับทางรถไฟด้วย

    อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าแผนปฏิบัติการพัฒนาด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ที่ได้มีการจัดทำกิจกรรมเวิร์คช็อปไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียด ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้ว 70-80% โดยคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนจะได้ความชัดเจนและสามารถดำเนินโครงการได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!