WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OTPวไลรตน ศรโสภณศลป

สนข.นำเสนอผลการศึกษา-รับฟังความเห็น โครงการศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่ง AEC

      สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานเปิดการสัมมน ว่า ที่ตั้งของประเทศไทยเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า คมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงข่ายถนนครอบคลุมทั่วถึง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี 58 แล้ว ปรากฏว่ามียานพาหนะต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นค่าซ่อมบำรุงรักษาถนน ความสูญเสียจากอุบัติเหตุ มลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงของประเทศ

  ในขณะที่ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศเริ่มมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าประเทศและการใช้ทางแล้วโดยล่าสุดประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ได้เริ่มนำระบบใบอนุญาตเข้าประเทศ Vehicle Entry Permit หรือ VEP มาใช้ประกอบกับการเรียกเก็บค่าใช้ถนน หรือ Road Charge กับรถต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศของตน และในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศมาเลเซียจะนำระบบ VEP มาใช้บริเวณ ด่านพรมแดนทั้ง 8 แห่ง ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และจะนำไปใช้กับด่านพรมแดนระหว่างมาเลเซีย-บรูไน และมาเลเซีย-อินโดนีเซีย ต่อไปตามลำดับ

  สนข. จึงได้ดำเนินการศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นการศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการนำยานพาหนะเข้าประเทศและค่าใช้ทางกับยานพาหนะต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการลดภาระงบประมาณค่าบำรุงรักษาทาง รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตามกำกับดูแลยานพาหนะต่างประเทศ เพื่อภารกิจความมั่นคง และสนับสนุนการวางแผนด้านบริการการท่องเที่ยวให้ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งจะมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (modal shift) จากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำในระยะยาวอีกด้วย

  อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น อาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการขนส่งได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยผลจากการศึกษาได้กำหนดเแผนการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

  ระยะแรก (1-3 ปี) เป็นการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดนกับรถยนต์นั่ง 4 ล้อต่างชาติ ด้วยระบบ RFID และบัตรเติมเงิน (Contactless Smartcard) ซึ่งจะสามารถตรวจสอบ (Detecting) ยานพาหนะเข้า/ออกด่านชายแดนทั้ง 28 แห่งได้

  ระยะกลาง (4-7 ปี) เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ทาง โดยติดตั้งระบบ GPS ซึ่งสามารถติดตาม (Tracking) ยานพาหนะต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยได้ โดยสามารถระบุตำแหน่ง เส้นทาง ความเร็ว ของยานพาหนะได้

  ระยะยาว (8-10 ปี) จะพิจารณาขอบเขตการเก็บค่าผ่านทางฯ ไปยังรถยนต์ประเภทอื่นและพื้นที่ด่านชายแดนถาวรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือมีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐด้วย

  ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทาง อาจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ ดำเนินการและบำรุงรักษา ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคงของประเทศ

 นางวิไลรัตน์ฯ กล่าวตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการศึกษา สนข.ได้ศึกษาข้อมูลในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งมีการประชุมสัมมนาและสัมภาษณ์สอบถามความคิดเห็นและความต้องการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำมาประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ได้มาเป็นสรุปผลการศึกษาฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ สนข. จะนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ที่ได้จากการสัมมนาฯ ในวันนี้ไปปรับปรุงผลการศึกษาโครงการศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อจะใช้ในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถรองรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศต่อไปในอนาคตด้วย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!