WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วิบากกรรม BTS

 
หุ้น BTS หรือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กำลังเผชิญวิบากกรรม เพราะมีปัจจัยลบกดดัน อาจจะทำให้ราคาหุ้นไม่ไปไหนได้ไม่ไกล 
 
 เพราะมีประเด็นค้างคาที่กระทบราคา กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่ากทม. และพวกรวม 13 คน รวมถึง นายคีรี กาญจนพาสน์  และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS ทุจริตรถไฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา 
 
 ในข้อหาทุจริตในการทำสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว วงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการจ้างเดินรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2.สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) 3.ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี โดยให้สัญญาว่าจ้าง BTSC เดินรถทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585
 
 เป็นสัญญาที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เซ็นทิ้งทวน ไว้เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2555 ก่อนถูกปลดฟ้าผ่าตามมาตรา 44 พ้นเก้าอี้ผู้ว่า 
 
 ความน่าเคลือบแคลงสงสัยของสัญญาฉบับนี้ คือ สัญญาว่าจ้าง อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 
 
 เพราะตามกฎหมายดังกล่าวระบุไว้ว่า หากโครงการที่รัฐทำร่วมกับเอกชนเกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และต้องเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล
 
 แต่ กทม. ใช้วิธีหลบเลี่ยง ด้วยการจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกทม. ไปจ้าง BTSC ต่ออีกทอด ในการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้า ซึ่งเข้าข่ายเป็นเป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 
 
 จนถูกมองว่า การทำสัญญาดังกล่าว มีความไม่ชอบมาพากล และความไม่โปร่งใส เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ “บีทีเอส” เพียงรายเดียว ส่วนรายอื่นเข้าไปร่วมไม่ได้ เพราะไม่ได้เปิดประมูล การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public. Private Partnership หรือ PPP) 
 
 แม้ กทม. จะอธิบายเรื่องนี้ว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นบริษัทจำกัด ที่ทำสัญญากับบริษัทจำกัดเหมือนกัน จึงไม่ต้องทำ PPP เพราะเป็นเอกชนกับเอกชน 
 
 แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากว่า “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” มีสถานภาพเป็นรัฐ หรือเอกชนกันแน่  เพราะ กทม. เป็นผู้ถือหุ้น 99.96% และมีผู้บริหารของ กทม. เป็นกรรมการของบริษัท จนมีการร้องเรียนต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ 
 
 ผ่านมาเกือบ 10 ปี จนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพวก 13 คน รวมถึง นายคีรี กาญจนพาสน์  และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ข้อหาทุจริตรถไฟ้าสายสีเขียว 
 
 การแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทำให้กลายเป็นประเด็นความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ทางการต่อ BTS และเป็นปัจจัยลบกระทบหุ้น 
 
ความน่ากังวลคือ หากผลของคดีตัดสินว่ามีความผิด สัญญาว่าจ้าง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีผลให้สัญญานิติกรรมใดๆ รวมทั้งสิทธิต่างๆ จะเป็นโมฆะหรือไม่ และอาจจะทบต่อรายได้ค่าโดยสาร และผลการดำเนินงานของ BTS ในอนาคต    
 
 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเรื่องสัญญาสัมปทานเดิม ที่ BTSC ทำกับกทม. ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2572 หรืออีกแค่ประมาณ 6 ปีเท่านั้น หากผลของคดีตัดสินว่ามีความผิด อาจจะส่งผลกระทบไม่ได้รับการต่อสัญญาในส่วนของสัมปทานเดิม 
 
 ในมุมมองของ บล. ธนชาต กรณีที่สูญเสียสัญญาส่วนต่อขยายสายสีเขียว ราคาเป้าหมายของหุ้น BTS จะลดลงเหลือ 4.50 บาท แต่หากได้รับการต่ออายุสัมปทาน 30 ปี ราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 13 บาท และหากไม่ได้ต่อ ราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 9.50 บาท 
 
 ขณะที่ บล.กรุงศรี มองมูลค่าพื้นฐาน BTS ไว้ที่ 10 บาท และมองกรณีเลวร้าย หากแพ้คดี หักมูลค่าสัญญาจ้างส่วนต่อขยายสายสีเขียว 3 บาท/หุ้นไปแล้ว ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 6.40 บาท
 
 อย่างไรก็ตาม การแจ้งข้อกล่าวหาของ ปปช. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาว่า BTS มีความผิดหรือไม่
 
 
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!