WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เอกชนเมิน 2 ล้านล้าน 'แท้ง'ลงทุนตามแผน ขยายตลาดภูธร

    ไทยโพสต์ : ยังคงเป็นประเด็น สำหรับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ได้มีการพิจารณาแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญและถูกตีตกไป ทำให้บางหน่วยงานออกมาเต้นแร้งเต้นกา หาเหตุผลว่า แล้วโครงการจะเดินหน้าได้อย่างไร จะหางบประมาณที่ไหนมาดำเนินโครงการต่างๆ

     อย่างไรก็ดี มีอีกหลายหน่วยงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมองว่าแม้จะกระทบบ้าง แต่ยังเดินหน้าต่อได้ แม้จะล่าช้าไปบ้าง โดยที่ผ่านมาหลายหน่วยงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเตรียมแผนรองรับกันแล้ว เนื่องจากกระแส พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะไม่ผ่านการพิจารณามีมานานแล้ว ดังนั้นทำให้ภาคเอกชนรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ รายเล็ก มีแผนสำรอง และดูกันว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

    นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ได้ล้มไปนั้น ส่งผลให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐชะงักไป จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมภาคก่อสร้างบ้าง เพราะงานโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการเติบโตของประเทศล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่จะมีการดำเนินโครงการเหล่านี้ต่อ โดยใช้งบประมาณปกติและมีโครงการที่อยู่ในงบประมาณปกติรอประมูลราว 1 ล้านล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม การที่โครงการล่าช้าออกไป ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างชะลอลง รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างทรงตัวและมีแนวโน้มปรับลดลง จากช่วงปีที่ผ่านมาที่ปรับขึ้นไปเพราะการคาดการณ์ว่าจะมีโครงการลงทุนใหญ่ออกมา เช่น คอนกรีต เป็นต้น ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างปีนี้ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น

     "แม้การลงทุนของรัฐในโครงการนี้อาจล่าช้าไป 1-3 ปี บริษัทจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากมีงานในมืออยู่กว่า 1.12 แสนล้านบาทรอรับรู้รายได้ในช่วง 5 ปี เช่น โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไชยบุรี ที่ สปป.ลาว โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 1 และ 4 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สัญญาที่ 2 และ 5 และสายสีเขียว สัญญาที่ 1 และ 2 เป็นต้น โดยสัดส่วนงานการรับงานรัฐและเอกชนจะอยู่ที่ 30-40% ส่วนที่เหลืออีก 60-70% เป็นการลงทุนของบริษัทในเครือ ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะมีรายได้มั่นคงต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 8-10%" นายปลิวกล่าวอย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญามูลค่ารวม 2.1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 มูลค่า 5,000 ล้านบาท โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำบาก ใน สปป.ลาว 17,000 ล้านบาท เป็นต้น และเตรียมยื่นประมูลอีก 3 โครงการ มูลค่ารวม 85,000 ล้านบาท คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โครงการรถไฟทางคู่ คลอง 19-แก่งคอย และโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 คาดว่าจะประมูลได้งานมูลค่า 20-25% ของงานทั้งหมด และล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว พม่า เนื่องจากยังต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่

     นายปลิว กล่าวว่า ในช่วงปลายปีนี้มีแผนจะออกหุ้นกู้อีกราว 1,000-2,000 ล้านบาท ส่วนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็มีความสนใจ แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

     สำหรับ ผลการดำเนินงานในปี 2556 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 42,010 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากงานก่อสร้าง 32,570 ล้านบาท และรายได้จากการลงทุน 9,440 ล้านบาท เติบโต 90% จากปี 2555 ที่มีรายได้ 22,094 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่กว่า 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าไตรมาสแรกนี้จะมีรายได้กว่า 8,000 ล้านบาท

     นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสที่จะรับงานในเมียนมาร์ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ทั้งพลังงานถ่านหินและพลังงานน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ หลายโครงการเกิดประโยชน์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาก และยังติดตามโครงการอื่นที่เนด้าอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะเข้าไปสัมปทาน

   นายอังสุรัส อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ และ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทล่มไป อีกทั้งการโยกโครงการไปบรรจุในงบปี 2558 ยังต้องรอไปอีก 1 ปี เพื่อรอตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทก่อสร้างชั้นนำบางรายหันไปสร้างโรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ในจังหวัดหัวเมืองหลัก เพื่อทดแทนงานก่อสร้างใน กทม.ที่ชะลอ

    "ที่เห็นได้ชัด ภูเก็ต สมุย พบว่ายังมีการก่อสร้างโดยผู้รับเหมาหลัก อาจร่วมกับผู้รับเหมาท้องถิ่น เช่นเดียวกับพื้นที่หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี หรือภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ พิษณุโลก โดยเฉพาะในเขตชั้นในเริ่มมีการปรับปรุงอาคารเพื่อก่อสร้างอาคารแห่งใหม่แทน ซึ่งถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้ผู้รับเหมารายใหญ่เข้าไปดำเนินการ" นายอังสุรัสมิ์กล่าว

     ด้าน นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางยังคงดำเนินการต่อไปได้ แม้ไม่มี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่การก่อสร้างให้ครบทั้ง 10 สายทาง จะทำไม่ได้ทั้งหมดใน 7 ปีตามแผน ซึ่งอาจล่าช้าออกไปไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี และอาจต้องจัดลำดับเส้นทางที่จะก่อสร้างใหม่ เพราะงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจะไม่สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายไปพร้อมกันได้

    "พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จัดทำขึ้นมาให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาใช้ได้มากกว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 20% ต่อปี เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าได้แล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนงานที่กำหนด แต่เมื่อไม่มี พ.ร.บ.กู้เงิน การหาเงินมาดำเนินโครงการจะทำได้น้อยลง วงเงินที่จะนำมาลงทุนจึงไม่เพียงพอที่จะทำได้ทั้งหมด และอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ครบทุกสาย" นายยงสิทธิ์กล่าว

   อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ของ รฟม.ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาอนุมัติโครงการก่อน ส่วนการก่อสร้างในเส้นทางเดิมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่กำหนดไว้

    สำหรับ การดำเนินงานของ รฟม.หลังจากนี้ จะยังคงศึกษาออกแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะก่อสร้างเส้นทางใดก่อน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่จะพิจารณา และเห็นว่าความล่าช้าของการดำเนินโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างกำไร แต่เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!