WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TCCland

กลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ เสี่ยเจริญ ปรับทัพค้าปลีกปั้น 4 แบรนด์สู้ศึกยึดทีมเอเชียทีคเป็นแกน

        ไทยโพสต์ : เอกมัย * 'เสี่ยเจริญ'ปรับทัพธุรกิจค้าปลีกอีกรอบ ส่ง ‘ณภัทร’ มือดีจากเอเชียทีค ปั้นรีเทล เร่งรุกขยาย 4 แบรนด์ศักยภาพ ทุ่มงบ 5-7 ปีอีก 20,000 ล้านบาท ขอกวาดรายได้ทะลุ  3,000 ล้านบาท

       นายณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า ในขณะนี้ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจค้าปลีกอีกครั้ง เพื่อทำให้การขยายธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการดึงทีมที่เคยดูแลโครงการเอเชียทีค เข้ามาร่วมนำเสนอแนวคิดและพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีแผนในระยะเวลา 5-7 ปีที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการสร้างโรงแรมประมาณ 15,000 ล้านบาท และค้าปลีกอีก 5,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจรีเทลเป็น 3,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี จากปี 2558 จะมีรายได้อยู่ 920 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกของบริษัทประกอบไปด้วย 6 แบรนด์ ได้แก่ 1.พันธุ์ทิพย์พลาซ่า 3 แห่ง คือ ประตูน้ำ งามวงศ์วาน และบางกะปิ 2.เอเชียทีค 3.เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ 4.เกตเวย์ 5.บ็อกซ์  สเปซ และ 6.โอพี รวมกันปัจจุบันราว 13 แห่ง มองว่ามี 4 แบรนด์ที่มีศักยภาพและเหมาะต่อการขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเอเชียทีค, พันธุ์ทิพย์พลาซ่า, บ็อกซ์ สเปซ และเกตเวย์

    สำหรับ แผนในการดำเนินงานของปี 2558 ยังคงเน้นปรับปรุงศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย และศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ซึ่งจะเปิดให้บริการหลังจากรีโนเวทแล้วช่วงกลางปีนี้ เชื่อว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นหลังจากปรับคอนเซ็ปต์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งสองย่านไปแล้ว พร้อมกับสร้างโครงการร้านแฮงก์เอาต์ภายใต้ชื่อ 'บ็อกซ์  สเปซ' บริเวณรัชโยธินที่ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 150 ล้านบาทอีกด้วย

     ขณะที่ในปี 2559 บริษัทจะเร่งดำเนินการปรับศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ทั้ง 3 แห่งครั้งใหญ่ ใช้เงินลงทุนกว่า 450 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้กับสาขาประตูน้ำราว 400 ล้านบาท โดยแต่เดิมจะจำหน่ายสินค้าไอทีเป็นหลัก มองว่าจากนี้จะปรับให้เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโนโลยี หรือทำให้พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เป็นศูนย์การค้าทางเทคโนโลยี เมื่อผู้บริโภคนึกถึงสินค้าเทคโนโลยีต้องเข้ามาใช้บริการที่นี่ โดยจะเปิดให้บริการรูปแบบใหม่ทั้ง 3 แห่งภายในปลายปี 2559 ขณะเดียวกันบริษัทยังจะเริ่มก่อสร้างโครงการเอเชียทีค ไพรม์ บริเวณพัทยาภายใต้เงินลงทุนอีก 500 ล้านบาทด้วยเช่นกัน

    ส่วนการขยายธุรกิจค้าปลีกในปี 2560 มุ่งเน้นไปในการขยายร้านแฮงก์เอาต์ภายใต้ชื่อ "บ็อกซ์  สเปซ" คาดการณ์ว่าจะเป็นบริเวณติดริมแม่น้ำเจ้าพระยามีเขตพื้นที่ติดกับบางนาหรือกรมสรรพาวุธ เบื้องต้น มองว่าคงใช้เงินลงทุนราว 150 ล้าน บาท ต่อมาในปี 2561 จะเริ่มโครงการเอเชียทีค ไพรม์ บนที่ดินติดกับโรงแรมแมริออท หัวหิน จำนวน 15 ไร่ เงินลงทุนอีก 500 ล้านบาท และจะเริ่มโครงการเอเชียทีค เชียงใหม่ บนพื้นที่ 20 ไร่ ภายใต้เงินลงทุน 1,200 ล้านบาทได้ในปี 2562 โดยโครงการเอเชียทีคในแต่ละแห่งจะมีโรงแรมควบคู่กันไปด้วย

     นายณภัทร กล่าวถึงแผนในการขยายศูนย์การค้าเกตเวย์แห่งที่ 2 ขณะนี้รอดูผลการดำเนินงานของสาขาเอกมัยอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนด้วยดี ก็พร้อมจะลงทุนในพื้นที่ 8 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างศูนย์การค้าทันที.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!