WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โจนส์ แลง ลาซาลล์ เผยดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาฯ อาเซียนปี 57 ดีขึ้น ชี้ไทยขยับขึ้นจากอันดับที่ 39 ในปี 55 เป็นอันดับที่ 36 ในปีนี้

    โจนส์ แลง ลาซาลล์ เผยดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาฯ อาเซียนปี 57 ปรับตัวดีขึ้น ชี้สิงคโปร์ อยู่ในกลุ่มหนึ่งในประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลก ส่วนไทยอยู่ในอันดับปานกลางขยับขึ้นจากอันดับที่ 39 ในปี 55 เป็นอันดับที่ 36 ในปีนี้

    นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีฯ ความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียนมีค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้น ตามรายงานที่มีชื่อว่า Global Real Estate Transparency Index (ดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์โลก) ฉบับประจำปี 2557 จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์)

     รายงานฉบับดังกล่าวได้รับการจัดทำขึ้นโดยเจแอลแอล และลาซาลล์ อินเวสต์เม้นท์ แมเนจเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ออกเผยแพร่ทุกๆ สองปี โดยในปีนี้ ครอบคลุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ 102 แห่งทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ มีตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่รวมอยู่ด้วย ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมาร์ โดยพบว่า ทุกประเทศของเซียนที่อยู่ในการสำรวจมีค่าดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นจากผลสำรวจในปี 2555 ยกเว้นเฉพาะเมียนมาร์ที่เพิ่งได้รับการสำรวจในปีนี้

   แม้ทุกตลาดจะยังคงมีค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นในการสำรวจปีนี้ แต่เมื่อเทียบผลการสำรวจในปี 2555 พบว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีจากปี 2553 ถึงปี 2555 มีอัตราที่รวดเร็วกว่า ซึ่งมี 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ติดอันดับกลุ่ม 10 ประเทศของโลกที่มีดัชนีความโปร่งใสปรับตัวดีขึ้นมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

    ส่วนระดับความโปร่งใส พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอาเซียนยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซียมีคะแนนในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใส โดยเฉพาะสิงคโปร์ อยู่ในกลุ่มหนึ่งในประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ในขณะที่เมียนมาร์มีคะแนนอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไร้ความโปร่งใส ส่วนไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใสปานกลาง ขณะที่เวียดนามยังคงอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีความโปร่งใสต่ำ

    นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะยังคงอยู่ในกลุ่มที่มีระดับความโปร่งใสปานกลางเช่นเดิม แต่ค่าดัชนีความโปร่งใสมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการจัดอันดับด้วย ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย”

   ความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยในปีนี้ มีค่าดัชนีที่ 2.76 ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.94 ในการสำรวจปี 2555 และ 3.02 ในปี 2553 ส่วนทางด้านการจัดอันดับ ในปีนี้ประเทศไทยขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 36 จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 39 ในผลการสำรวจของปี 2555 และ 2553

    นางสุพินท์กล่าวว่า “การที่มีข้อมูลเปิดเผยมากขึ้นทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีความโปร่งใสมากขึ้นด้วย ซึ่งต่างจากในอดีตที่เรามีปัญหาค่อนข้างมาก จากการที่เจ้าของ นักลงทุน ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือแม้แต่ผู้เช่า มักไม่เปิดเผยธุรกรรมการลงทุน ซื้อ-ขาย หรือเช่า ทำให้ไม่มีข้อมูลด้านราคาซื้อขายหรือค่าเช่าที่เกิดขึ้นจริงสำหรับนำมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนด“ราคาตลาด” ที่เหมาะสมได้

    “การที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากขึ้นที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะในฐานะผู้พัฒนาโครงการ ผู้ซื้อ หรือผู้ขาย ตลอดรวมจนถึงการเพิ่มจำนวนขึ้นของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในแง่นี้ เนื่องจากบริษัทหรือกองทุนเหล่านี้ ถูกกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการต่างๆ ด้วยความโปร่งใส”นางสุพินท์กล่าว

     “ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้นรวม 48 กอง เพิ่มขึ้นจาก 38 กองในปี 2555 ซึ่งกองทุนจดทะเบียนเหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานและผลประกอบการอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในปีนี้ ได้เริ่มเปิดให้มีจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขึ้น (Real Estate Investment Trusts: REITs) ซึ่งสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้หลากหลายประเภทขึ้น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงพยาบาล การศึกษา ไปจนถึงสนามกอล์ฟ ทั้งนี้ REITs จะค่อยๆ เข้ามาแทนที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และจะช่วยขยายให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมประเภทของอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นต่อไป” นางสุพินท์กล่าว

    ดร.ฉั่ว หยางเหลียง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเจแอลแอล กล่าวว่า“การที่มีนักลงทุนประเภทสถาบันสนใจลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคนี้มีความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ รวมจนถึงกระบวนการประกอบธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ดังที่เห็นตัวอย่างได้จากฟิลิปปินส์ที่มีนักลงทุนประเภทสถาบันยักษ์ใหญ่ ดังเช่น จีไอซี อาร์อี, โกลด์แมน แซคส์ และแอสเซนดาส เข้าไปลงทุน และประเทศไทยที่นักลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากนักลงทุนประเภทบุคคลเป็นนักลงทุนสถาบันมากขึ้น”

                “นอกจากนี้ การขยายตัวของประชากรคนรุ่นใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการศึกษาสูงขึ้นและมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคนี้ในอนาคตต่อไป” ดร ฉั่วกล่าว

ดัชนีความโปร่งใสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศกลุ่มอาเซียนปี 2557              

ระดับความโปร่งใส ตลาดอสังหาริมทรัพย์         ค่าดัชนีความโปร่งใส (1 = สูงสุด, 5 = ต่ำสุด)                                    อันดับในปี2557

                                2557        2555        2553       

โปร่งใสมาก              -               -               -               -               -

โปร่งใส     สิงคโปร์    1.81         1.85         1.73         13

ปานกลาง มาเลเซีย   2.27         2.32         2.3           27

                ไทย          2.76         2.94         3.02         36

                ฟิลิปปินส์ 2.84         2.86         3.15         38

                อินโดนีเซีย                2.85         2.92         3.46         39

ต่ำ            เวียดนาม  3.59         3.76         4.25         68

ไม่โปร่งใส เมียนมาร์  4.48         -               -               100                                                                         

ที่มา: Global Real Estate Transparency Index 2014,  เจแอลแอล และลาซาลล์ อินเวสต์เม้นท์ แมเนจเม้นท์            

                                                                               

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลกในปี 2557

อันดับ    ประเทศ  ค่าดัชนีความโปร่งใส          ระดับความโปร่งใส            

                                                                               

                                (1 = สูงสุด, 5 = ต่ำสุด)                                            

1              อังกฤษ     1.25         โปร่งใสมาก                             

2              สหรัฐอเมริกา            1.34                                        

3              ออสเตรเลีย              1.36                                        

4              นิวซีแลนด์ 1.44                                        

5              ฝรั่งเศส     1.52                                        

6              แคนาดา   1.52                                        

7              เนเธอร์แลนด์             1.57                                        

8              ไอร์แลนด์  1.62                                        

9              ฟินแลนด์  1.69                                        

10            สวิตเซอร์แลนด์         1.73         โปร่งใส                    

11            สวีเดน      1.79                                        

12            เยอรมัน    1.79                                        

13            สิงคโปร์    1.81                                        

14            ฮ่องกง      1.87                                        

ที่มา: Global Real Estate Transparency Index 2014,  เจแอลแอล และลาซาลล์ อินเวสต์เม้นท์ แมเนจเม้นท์            

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!