- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 25 February 2023 18:19
- Hits: 2019
นักวิจัย ม.อ. ค้นพบ ‘เอื้องแฝงบริพัตร’ กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก ตอกย้ำระบบนิเวศน์สมบูรณ์มีผลฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์ ค้นพบกล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก ‘เอื้องแฝงบริพัตร’ ที่ บริเวณน้ำตกบริพัตร มีลักษณะเด่นดอกมีสมมาตรรัศมี มีดอกจำนวนมากบริเวณต่อช่อ ดอกสีขาวครีมหรือสีเหลืองอ่อน โชว์ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร PhytoKeys สามารถนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ พร้อมเตรียมต่อยอดศึกษาชีววิทยาการถ่ายละอองเรณูรวมทั้งการอยู่อาศัยร่วมกับรา
รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. นำโดย รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ได้ค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกและตั้งชื่อไทยว่า ‘เอื้องแฝงบริพัตร’ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ ‘Aphyllorchis periactinantha’ โดยลักษณะเด่นของกล้วยไม้ชนิดนี้คือ ดอกมีสมมาตรรัศมี ซึ่งได้ค้นพบที่บริเวณน้ำตกบริพัตร จึงนำชื่อของสถานที่มาตั้งเป็นชื่อ และยังมีรายงานพบกล้วยไม้ชนิดนี้ที่บ้านยางเกาะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่นในจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส
สำหรับกล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตร เป็นกล้วยไม้อาศัยราสกุล (Aphyllorchis Blume) แต่มีลักษณะที่แตกต่างกล้วยไม้ในสกุล Aphyllorchis ลักษณะกล้วยไม้ชนิดนี้ไม่สามารถสร้างอาหารได้เองด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง เนื่องจากไม่มีคลอโรพลาสต์ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับรา ลำต้นใต้ดินตั้งตรงมีรากสั้นๆ อวบน้ำจำนวนมาก ช่อดอกสูงได้ถึง 150 เซนติเมตร และมีดอกจำนวนมากบริเวณต่อช่อ ดอกสีขาวครีมหรือสีเหลืองอ่อน กลีบปากมีรูปร่างคล้ายกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันลดรูปไม่แผ่เป็นปีก ช่วงเวลาออกดอกและติดผล เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม โดยการค้นพบในกล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตรได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PhytoKeys
ทั้งนี้ กล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตร จัดว่าเป็นพืชที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพบจำนวนน้อยและไม่สามารถนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ หรือยังไม่ควรนำมาศึกษาหาสารสกัดหรือสรรพคุณทางด้านเภสัชวิทยา แต่สามารถนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยาของพื้นที่อนุรักษ์ได้ โดยภายหลังการค้นพบในครั้งนี้ นักวิจัย ม.อ.ทำการศึกษาชีววิทยาการถ่ายละอองเรณูรวมทั้งการอยู่อาศัยร่วมกับรา และจะศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของกล้วยไม้ชนิดนี้และชนิดใกล้เคียงตลอดจนการสำรวจพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม
รศ. ดร.สหัช กล่าวว่า การศึกษากล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตร ทำให้นักวิจัยได้เข้าใจธรรมชาติวิทยามากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่พบกล้วยไม้ชนิดนี้เคยถูกรบกวนจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาก่อน แต่หลังจากทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เข้ามาบริหารจัดการพื้นใหม่ทำให้ระบบนิเวศฟื้นฟูด้วยตนเอง พื้นป่าจึงมีการสะสมของซากใบไม้ทับถมมากขึ้น เชื้อราและจุลินทรีย์เฉพาะถิ่นอื่นๆ ก็กลับมา ทำให้พบพืชอาศัยราที่มีความเฉพาะเจาะจงกับถิ่นอาศัยสามารถเจริญอยู่ได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความหลากหลายทางชีวภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องให้ความสำคัญของความสมบูรณ์ในระบบนิเวศ
A2732