- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 26 June 2023 23:16
- Hits: 1889
สจล. เสริมแกร่งหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ผนึกความร่วมมือ ยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น ผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีของโลก ประเทศญี่ปุ่น
ดนตรีเป็น ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ อันทรงพลัง ขณะที่สื่อดิจิทัลคอนเทนต์ต่างๆ มีอิทธิพลต่อวิถีสังคมมนุษย์และเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต ผนึกความร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีของโลก บริษัท ยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น แห่งญี่ปุ่น และสยามดนตรียามาฮ่า ณ เมืองฮามามัตสึ เพื่อแลกเปลี่ยนและต่อยอดงานวิจัยศิลปะและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมดนตรี ผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงป้อนวงการดนตรีและดิจิทัลมีเดีย เสริมความแข็งแกร่งพัฒนาหลักสูตรดนตรีและสื่อประสมให้ก้าวหน้า สร้างเสริมพลังซอฟท์พาวเวอร์ของไทย
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดนตรีในตลาดโลกมีการพัฒนาควบคู่กับดิจิทัลมีเดียซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อุตสาหกรรมดนตรีจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีศิลปินโด่งดังระดับโลก เช่น ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล แบล็คพิ้งค์ บีทีเอส สร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศและมูลค่าทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมาอย่างมหาศาล โดยใช้อุตสาหกรรมดนตรีเป็นตัวนำทางและแผ่ขยายไปยังนานาประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 นับเป็นแห่งแรกในอาเซียนที่ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมดนตรีที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ รองรับยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยเปิดหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้น ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง สจล.กับ สยามดนตรียามาฮ่า และยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความร่วมมือพัฒนาความก้าวหน้าของหลักสูตรดนตรีใหม่ๆ และงานวิจัยในประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น การบ่มเพาะบุคลากรสมรรถนะสูงทางด้านวิศวกรรมดนตรีและสื่อดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์งานดนตรี สื่อและคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างมีสีสัน ตอบสนองความหลากหลายของการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมพลังให้‘ซอฟท์พาวเวอร์’ ของไทยด้านดนตรี ภาพยนตร์ เฟสติวัล กีฬาการต่อสู้ และขับเคลื่อนไทยเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางด้านบันเทิงแห่งอาเซียน”
ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต แบ่งเป็น Acoustic Engineering และ Sound Engineering มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการองค์ความรู้ อาทิ วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ และวิศวกรรมการประมวลผลสัญญาณ วิศวกรรมอคูสติกส์ เข้ากับองค์ความรู้ทางด้านศิลป์สาขาวิชาดนตรีและเทคโนโลยีดนตรี บุกเบิกมิติใหม่ในแวดวงการศึกษาทางด้านวิศวกรรมดนตรีของประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านดนตรี สื่อดนตรี อุตสาหกรรมเกม อีเว้นท์ สื่อทางวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น เข้าใจในมุมมองของศิลปะทางด้านดนตรีและมีทักษะในทางปฏิบัติ สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของหลักการทางวิศวกรรมกับเทคโนโลยีดนตรีได้เป็นอย่างดี โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือที่ครบครันทันสมัย
ผู้จบการศึกษาจะสามารถทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมดนตรี, ภาพยนตร์, โฆษณา, เกมส์และแอนิเมชัน, วิทยุโทรทัศน์, อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรี, วิศวกรรมเสียงสำหรับอาคาร, วิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและโสตทัศนูปกรณ์ทางการแพทย์, อุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่นๆ ผู้สนใจสมัครเรียนวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ https://imse.kmitl.ac.th/th/ โทร. 02-329-8197 หรือเฟสบุค https://www.facebook.com/imsekmitl/?locale=th_TH
ในโอกาสที่นักวิจัย คณาจารย์และนักศึกษาของวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ไปเยือนโรงงานผลิตเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ระบบเสียงของยามาฮ่า ที่เมืองฮามามัตสึ ดร. พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และ มร.กาซุนาริ ซูซูกิ (Kazunari Suzuki) กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ได้ประสานงานกับยามาฮ่า คอร์ปอเรชั่น ที่ญี่ปุ่นตลอดทริปที่เมืองฮามามัตซึ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมดนตรีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นำนักวิจัยและนักศึกษา สจล.ดูงานและเปิดมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาเครื่องดนตรี เครื่องเสียง และอุปกรณ์ต่างๆ ไลน์การผลิตที่ก้าวหน้าทันสมัยของยามาฮ่า ผู้นำอุตสาหกรรมดนตรีและระบบเสียงในตลาดโลก ซึ่งมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 โดดเด่นในงานวิจัยคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรม ตั้งแต่เครื่องดนตรีอิเลคโทน เปียโน คีย์บอร์ด ดนตรีคอมโบ้ ซินธิไซเซอร์ เครื่องเป่าทองเหลือง ระบบเครื่องเสียงในบ้าน ระบบเครื่องเสียงสำหรับงานสาธารณะ อีกทั้งได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีโลกแห่งแรกและแห่งเดียวในญี่ปุ่น Hamamatsu Museum of Musical Instruments “เมืองแห่งการสร้างสรรค์ดนตรี” อนุรักษ์มรดกทางดนตรีที่มีคุณค่าจากทั่วทุกมุมโลก
นอกจากนี้วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล.ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้ากับสองมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยโตไก (Tokai University) เยี่ยมห้องปฏิบัติการวิจัย Acoustic Lab & Virtual Reality Lab และ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียว (Tokyo University of the Arts) ซึ่งมี Immersive Sound Lab ที่ทันสมัย พร้อมพบปะและฟังบรรยายสรุปของนักศึกษาไทยจากวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต ชั้นปี 4 ที่เดินทางไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น (Oversea Training) เป็นเวลา 1 เทอมการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง เพื่อนำประสบการณ์ความรู้มาพัฒนาดนตรีในประเทศไทยอีกด้วย
A6752